เรื่องต้องรู้ ตู้คอนซูมเมอร์หัวใจของบ้าน ใช้ทำอะไร
ไม่ว่าจะบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโด อพาร์ตเมนต์ หรือที่อยู่อาศัยรูปแบบใดก็ตาม ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าไปได้ เพราะไฟฟ้าได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตไปเสียแล้ว โดยเมื่อพูดถึงไฟฟ้าสิ่งที่นึกถึงตามมาก็คือความอันตราย และเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นที่มาของตู้คอนซูมเมอร์ หรือตู้ไฟฟ้านั่นเอง
ตู้คอนซูเมอร์ถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญมาก ๆ ต่อระบบไฟฟ้าภายในที่อยู่อาศัย เพราะจะคอยทำหน้าที่ควบคุมระบบไฟฟ้าที่มีทั้งหมด ถึงกับมีคนกล่าวไว้ว่าตู้คอนซูมเมอร์นั้นเปรียบได้กับหัวใจของบ้าน แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าตู้คอนซูมเมอร์จะเป็นหัวใจของบ้าน แต่เราอาจยังไม่รู้จักหัวใจดวงนี้ดีเพียงพอ เพราะอาจมีความกังวลในเรื่องของอันตรายจากไฟฟ้าจนไม่กล้าไปแตะต้อง ดังนั้นเพี่อสร้างความเข้าใจต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนี้ให้มีเพิ่มมากขึ้น พี่ไทจึงขออาสาชวนทำความรู้จักกับตู้คอนซูมเมอร์ตามหัวข้อดังต่อไปนี้
1. การทำงานของตู้คอนซูมเมอร์
ตู้คอนซูมเมอร์ คือตู้ที่ใช้สำหรับรวบรวมอุปกรณ์ควบคุมระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ภายในอาคาร หรือภายในพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น ห้องพัก โดยใช้สำหรับไฟฟ้า 1 เฟส 220 โวลต์เท่านั้น (ถ้ามากกว่านั้น เช่น ในอาคาร ในโรงงาน จะมีตู้คอนซูมเมอร์หลายตู้ โดยแต่ละตู้จะถูกควบคุมด้วยตู้โหลดเซ็นเตอร์) ภายในตู้คอนซูเมอร์จะประกอบไปด้วย เซอร์กิตเบรกเกอร์เมนใช้สำหรับควบคุมระบบไฟฟ้าภายในบ้านทั้งหมด สามารถตัดไฟทั้งบ้านได้ทันที เซอร์กิตเบรกเกอร์ย่อยใช้สำหรับควบคุมไฟฟ้าแยกย่อยไปตามจุดต่าง ๆ ภายในบ้าน และอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟดูด อุปกรณ์ทั้งหมดจะเรียงตัวอยู่ในแถวเดียวกัน มีลักษณะเป็นกล่องเปิดปิดง่าย สะดวกต่อการใช้งาน
2. ประเภทของตู้คอนซูมเมอร์
ตู้คอนซูมเมอร์มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ดังนี้
• ตู้คอนซูมเมอร์แบบรางปีกนก (Din-Rail)
แบบรางปีกนก คือแบบที่น่าจะคุ้นหน้าคุ้นตากว่าแบบแบบปลั๊กออน วิธีการติดตั้งจะใช้สายไฟเชื่อมต่อเบรกเกอร์แล้วเดินสายจากเมนเบรกเกอร์ไปยังเบรกเกอร์ลูกย่อยที่อยู่ในรางจนครบ ซึ่งจะใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมากกว่าแบบปลั๊กออน แต่ในขณะเดียวกันราคาตู้คอนซูมเมอร์แบบรางปีกนกจะมีราคาถูกกว่า รวมถึงมีความทนทานและมีอายุการใช้งานที่มากกว่า
ตู้คอนซูเมอร์ยูนิต 6 ช่อง BTICINO รุ่น BTC/6 DIN สีเทา
• ตู้คอนซูมเมอร์แบบปลั๊กออน (Plug-on)
แบบปลั๊กออน เป็นแบบที่ขึ้นชื่อว่ามีความปลอดภัยสูง สามารถติดตั้งได้ง่าย เนื่องจากไม่ต้องเดินสายไฟจากเมนเบรกเกอร์ไปยังเบรกเกอร์ลูกย่อย สามารถนำเบรกเกอร์ไปติดที่บัสบาร์ (อุปกรณ์ที่ใช้ในระบบไฟฟ้าเพื่อส่งกระแสไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟหรือแผงไฟฟ้าสู่อุปกรณ์) ซึ่งจะมีติดตั้งอยู่ในตู้มาตั้งแต่แรก ทำให้ตัวเครื่องแบบปลั๊กออนมีราคาสูงกว่า แต่ช่วยประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง
ตู้คอนซูเมอร์ยูนิต 6 ช่อง CLASSIC PLUS SCHNEIDER รุ่น S9HCL16 สีขาว
3. การเลือกตู้คอนซูมเมอร์
การเลือกตู้คอนซูมเมอร์ควรพิจารณาจากจำนวนช่องภายในตู้เป็นหลัก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีจำนวนช่องให้เลือกตั้งแต่ 4 ช่อง ไปจนถึง 20 ช่อง ขึ้นอยู่กับแบรนด์และรุ่น ซึ่งแต่ละช่องจะสามารถรองรับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ทั้งแบบชิ้นเดียว เช่น แอร์ หรือหลายชิ้น เช่น หลอดไฟ ดังนั้นการเลือกตู้คอนซูมเมอร์ควรเผื่อช่องสำหรับติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าในอนาคตไว้ด้วย ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเผื่อไว้ 2-3 ช่อง
4. ข้อควรระวังในการติดตั้ง
การติดตั้งตู้คอนซูมเมอร์ควรทำโดยช่างผู้ชำนาญการ อย่าเสี่ยงทำการติดตั้งด้วยตนเองเพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงตามมาได้ ถ้าเรายังไม่มีความเข้าใจที่มากพอ ซึ่งเราในฐานะเจ้าของบ้านสามารถเช็คลิสต์ความปลอดภัยในการติดตั้งได้ดังต่อไปนี้
• ควรติดตั้งในบริเวณที่เข้าถึงง่าย ห่างไกลจากความชื้นและน้ำ เพื่อให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง ลดความเสี่ยงการเกิดไฟฟ้าช็อต
• ควรเลือกขนาดสายไฟให้เหมาะสมกับขนาดแอมป์ของเบรกเกอร์
• ต้องต่อสายนิวตรอน (สายที่ไม่มีไฟ) จากมิเตอร์การไฟฟ้าลงดินก่อนที่จะเข้าเมนเบรกเกอร์ เพื่อให้มั่นใจว่าสายนิวตรอนที่ต่อเข้าภายในบ้านมีความต่างศักย์เป็นศูนย์จริง
• ติดตั้งระบบสายดินอย่างถูกต้องตามมาตรฐานของการไฟฟ้า
• ก่อนทำการซ่อมบำรุง หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ควรปิดเมนเบรกเกอร์ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยขณะทำการซ่อม
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตที่พี่ไทนำมาฝาก ใครที่ไม่เคยรู้เรื่องไฟฟ้ามาก่อนอาจจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันพอสมควร แต่ก็คงไม่ยากเกินต่อการทำความเข้าใจ จะได้สื่อสารพูดคุยกับช่างที่มาทำการติดตั้งด้วยความมั่นใจ และแน่ใจได้ว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะใช้งานในบ้านเรานั้นมีความปลอดภัยกับบ้านอย่างแท้จริง
ขอบคุณภาพจาก: stoneselectricalsolutions.co.uk, ryanltd.co.uk
• เลือกช้อปตู้คอนซูมเมอร์ ครบ ถูกและดี ได้ที่หน้าร้าน และหน้าเว็บ คลิก
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สินค้าแนะนำ