ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย ครบเรื่องบ้าน ถูกและดี
logo_mobile
search
เลือกสาขา
หน้าแรก
บทความ
ใช้ไฟเกินคืออะไร มิเตอร์ไฟฟ้าแบบไหนเหมาะกับบ้านคุณ

ใช้ไฟเกินคืออะไร มิเตอร์ไฟฟ้าแบบไหนเหมาะกับบ้านคุณ


          ไฟฟ้าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปโดยสมบูรณ์แล้ว ลองหันไปดูรอบตัวก็จะพบว่าเต็มไปด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าแทบทั้งสิ้น ดังนั้นคงจะไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่านอกจากปัจจัย 4 อย่าง อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ถ้าจะมีอีกหนึ่งปัจจัยเพิ่มเข้ามาเป็นปัจจัยที่ 5 6 หรือ 7 ไฟฟ้าน่าจะเป็นตัวเลือกที่ไม่โดนมองข้ามไปแน่ ๆ
          แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าไฟฟ้าจะจำเป็นแค่ไหน เราในฐานะผู้อยู่อาศัยไม่สามารถโหมใช้ไฟฟ้าได้เกินที่มิเตอร์ไฟฟ้ากำหนดไว้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ไฟเกิน” ซึ่งจะส่งผลให้เบรคเกอร์ภายในบ้านสับลงทันที ไม่สามารถใช้ไฟฟ้าต่อได้ เพราะใช้ไฟฟ้าเกินจากที่กำหนดไว้ โดยเราสามารถเช็คได้ว่าไฟเกินหรือไม่ จากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งในบทความนี้พี่ไทจะมาแนะนำวิธีการคำนวณง่าย ๆ ให้ทุกคนได้ทราบกัน

          โดยก่อนอื่นพี่ไทขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับมิเตอร์ไฟฟ้ากันก่อน

          มิเตอร์ไฟฟ้าเป็นเครื่องวัดที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัดปริมาณกำลังไฟฟ้ากระแสสลับภายในที่พักอาศัย โดยส่วนมากแล้วจะติดตั้งอยู่กับเสาไฟฟ้าหน้าบ้าน หรือถ้าอาศัยอยู่ในคอนโด อพาร์ทเม้นท์ ก็จะมีมิเตอร์ไฟฟ้าประจำชั้นแยกเป็นห้อง ๆ ให้เราได้คอยสังเกตการใช้งาน โดยมีหน่วยวัดพลังงานไฟฟ้าเป็นกิโลวัตต์-ชั่วโมง มิเตอร์ไฟฟ้ามีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีขนาดกำลังไฟฟ้าที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถสังเกตได้จากตัวเลขในช่องบนมิเตอร์ เช่น 5(15) A หมายความว่า เป็นมิเตอร์ไฟขนาด 5 แอมป์ สามารถใช้ไฟได้มากถึง 15 แอมป์ ตรงจุดนี้คือจุดที่เราต้องคอยตรวจสอบไม่ให้กำลังไฟฟ้าเกินไปจากที่กำหนดนั่นเอง

          โดยขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้า มีดังต่อไป

ขนาดมิเตอร์
ขนาดการใช้ไฟฟ้า
ความเหมาะสม
มิเตอร์ 5(15) 1 เฟส
ไม่เกิน 10 แอมป์
บ้านขนาดเล็ก หอพัก ที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่มาก
มิเตอร์ 15(45) 1 เฟส
11-30 แอมป์
บ้านขนาดกลาง คอนโด เป็นขนาดมิเตอร์ที่ส่วนใหญ่ใช้กัน
มิเตอร์ 30(100) 1 เฟส
31-75 แอมป์
บ้านขนาดใหญ่ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด
มิเตอร์ 50(150) 1 เฟส
76-100 แอมป์
บ้านขนาดใหญ่ หรืออาคารสำนักงาน

          ตารางที่พี่ไทนำมาให้ดูด้านบน คือขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า ที่เหมาะกับระบบไฟฟ้าที่ใช้ภายในบ้านเรือน มีการจ่ายไฟที่เหมาะสมต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน แต่ถ้าเป็นการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น เช่น ในระดับอุตสาหกรรม จะมีการใช้มิเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีกขั้น ขยับจาก 1 เฟส สู่ 3 เฟส ซึ่งในบทความนี้เรานำเสนอแค่ในส่วนของระบบไฟฟ้าที่ใช้ภายในบ้านเรือนเท่านั้นนะครับ
          ซึ่งขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการใช้งานภายในที่พักอาศัยนั้น จะต้องพิจารณาถึงจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน และอาจจะเผื่อไว้ในอนาคตสักเล็กน้อย เพราะอาจมีเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาได้ โดยมีวิธีการคำนวณง่าย ๆ ดังนี้ นำกำลังไฟฟ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เราใช้ซึ่งมีหน่วยเป็นวัตต์ (สามารถดูได้จากฉลากบนเครื่องใช้ไฟฟ้า) หารด้วยความต่างศักย์ (ความต่างศักย์ไฟฟ้าภายในบ้านประมาณ 220 โวลต์) และคูณด้วยจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนั้น เช่น ถ้ามีพัดลม 2 ตัว ให้คูณด้วย 2 ถ้ามีแค่ตัวเดียวก็ไม่ต้องคูณ ก็จะได้เป็นปริมาณไฟฟ้าที่ใช้จากเครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น

          - เครื่องปรับอากาศ 1,200 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 1,200 ÷ 220 = 5.45 แอมป์
          - หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 36 วัตต์ จำนวน 6 หลอด คิดเป็นกระแสไฟฟ้า (36 ÷ 220) x 6 = 0.98 แอมป์
          - LED TV 90 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 90 ÷ 220 = 0.4 แอมป์
          หลังจากนั้นให้เราออกสำรวจเครื่องใช้ฟ้าภายในบ้านทั้งหมด แล้วคำนวณออกมาให้ครบทุกชิ้น แล้วนำตัวเลขที่ได้มาบวกรวมกัน ก็จะได้เป็นกำลังไฟที่เราใช้ภายในบ้านทั้งหมด แล้วให้คูณด้วย 1.25 (ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่อาจจะใช้มากขึ้นในอนาคต) โดยถ้าเราอ้างอิงจากเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้ง 3 ข้อด้านบน รวมกันทั้งหมดแล้วได้ 6.83 แอมป์ ซึ่งเมื่อคูณด้วย 1.25 ก็จะ = 8.54 แอมป์ (โดยเฉลี่ยแล้วบ้านขนาดกลางมักใช้ไฟอยู่ที่ประมาณ 11-30 แอมป์)
          เมื่อเทียบกับตารางด้านบนก็จะแสดงให้เห็นว่าที่พักอาศัยของเราเหมาะสมกับการใช้มิเตอร์ขนาด 15(45) 1 เฟส ขนาดการใช้ไฟฟ้าก็จะอยู่ที่ 11-30 แอมป์ ซึ่งถ้าในอนาคตมีการไฟฟ้าที่มากขึ้นจากเดิม จนเกินจากขนาดมิเตอร์ที่เราใช้อยู่เราก็จำเป็นที่จะต้องทำการเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่เพื่อความปลอดภัย โดยสามารถทำการแจ้งขอเปลี่ยนมิเตอร์ได้ที่การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แล้วแต่พื้นที่พักอาศัย
          น่าจะพอเห็นภาพ และทำความเข้าใจเรื่องไฟเกิน และรูปแบบมิเตอร์ไฟฟ้าที่เหมาะสมกับที่พักอาศัยของเราแล้วใช่ไหมครับ ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลเพียงบางส่วนในเรื่องมิเตอร์ไฟฟ้า ยังคงมีเรื่องของการอ่านค่าบนมิเตอร์ การคำนวณค่าไฟ ซึ่งพี่ไทจะหาโอกาสมานำเสนอต่อไปในอนาคต คอยติดตามกันนะครับ

• เลือกช้อปมิเตอร์ไฟฟ้า / หม้อแปลง ครบ ถูกและดี ได้ที่หน้าร้าน และหน้าเว็บ คลิก

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สินค้าแนะนำ