ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย ครบเรื่องบ้าน ถูกและดี
logo_mobile
search
เลือกสาขา
หน้าแรก
บทความ
เปิดสูตรคำนวณค่าไฟบ้านแบบง่าย ๆ ใครก็ทำได้

เปิดสูตรคำนวณค่าไฟบ้านแบบง่าย ๆ ใครก็ทำได้


          ถ้ายังจำได้พี่ไทเคยเกริ่นไว้ในตอนท้ายบทความ “ไฟเกินคืออะไร มิเตอร์ไฟฟ้าแบบไหนเหมาะกับบ้านคุณ” ว่าจะพาทุกคนมาคำนวณหาค่าไฟบ้านแบบง่าย ๆ กัน ซึ่งในบทความนี้เราจึงจะพูดถึงเรื่องนี้กันแบบลงรายละเอียดจัดเต็ม ดูให้รู้กันไปเลยว่าจะประหยัดค่าไฟได้จากตรงไหนบ้าง ดังนั้นเตรียมกระดาษปากให้พร้อม แล้วมาบวกลบคูณหาร หาค่าไฟไปตามขั้นตอน ทั้ง 4 ขั้นตอนกันได้เลยครับ

ขั้นตอนที่ 1 สำรวจเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และประเมินชั่วโมงการใช้งานในแต่ละวัน

          จะคำนวณหาค่าไฟได้ก็ต้องทำความรู้จักเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านกันก่อน เช็คให้เรียบร้อยว่าในบ้านของเรามีเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรบ้าง และเช็คดูด้วยว่าแต่ละชิ้นใช้กำลังไฟฟ้าเท่าไหร่ ซึ่งกำลังไฟฟ้าโดยส่วนมากแล้วจะระบุอยู่ด้านข้างเครื่องใช้ไฟฟ้ามีหน่วยเป็นวัตต์ (W) และที่สำคัญเราต้องประเมินชั่วโมงการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าในแต่ละวันได้ อาจจะไม่ต้องตรงเป๊ะ แต่ก็ต้องมีความใกล้เคียง พี่ไทมีตัวอย่างคร่าว ๆ จะได้เห็นภาพตรงกัน โดยพี่ไทจะใช้ตัวอย่างนี้ในการคำนวณไปจนจบบทความครับ
          - เครื่องปรับอากาศ 1,200 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เปิดวันละ 8 ชั่วโมง
          - LED TV 90 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เปิดวันละ 4 ชั่วโมง
          - หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 36 วัตต์ จำนวน 4 หลอด เปิดวันละ 5 ชั่วโมง
          - ตู้เย็น 150 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง เปิด 24 ชั่วโมง

ขั้นตอนที่ 2 คำนวณหน่วยการใช้ไฟฟ้า

          หลังจากได้กำลังไฟฟ้าและชั่วโมงการใช้งานแล้ว เราจะนำตัวเลขที่ได้มาคำนวณหน่วยการใช้งานไฟฟ้า โดยมีสูตรการคำนวณดังนี้

          (กำลังไฟฟ้า (วัตต์) x จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า ÷ 1,000) x จำนวนชั่วโมงที่ใช้ใน 1 วัน = จำนวนหน่วยต่อวัน (ยูนิต)

จากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยกตัวอย่างไว้ในขั้นตอนที่ 1 เราจะคำนวณออกมาได้ดังนี้
          - เครื่องปรับอากาศ : (1,200 x 1 ÷ 1000) x 8 = 9.6 หน่วยต่อวัน / หรือเดือนละ (9.6 x 30) = 288 หน่วย
          - LED TV : (90 x 1 ÷ 1000) x 4 = 0.36 หน่วยต่อวัน หรือเดือนละ (0.36 x 30) = 10.8 หน่วย
          - หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ : (36 x 4 ÷ 1000) x 5 = 0.72 หน่วยต่อวัน หรือเดือนละ (0.72 x 30) = 21.6 หน่วย
          - ตู้เย็น : (150 x 1 ÷ 1000) x 24 = 3.6 หน่วยต่อวัน หรือเดือนละ (3.6 x 30) = 108 หน่วย
ดังนั้นเมื่อรวมตัวเลขทั้งหมดเข้าด้วยกัน (288 + 10.8 + 21.6 + 108) จะใช้ไฟฟ้าประมาณ 428.4 หน่วย / เดือน

ขั้นตอนที่ 3 คำนวณค่าไฟฟ้า

          หลังจากได้หน่วยการใช้ไฟฟ้าต่อวันมาแล้ว เราจะคำนวณค่าไฟฟ้าโดยยึดอัตราจากการไฟฟ้านครหลวง ประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย ข้อ 1.2 อัตราปกติปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือน โดยมีอัตราดังต่อไปนี้
          150 หน่วย แรก (หน่วยที่ 1 – 150) หน่วยละ 3.2484 บาท
          250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151 – 400) หน่วยละ 4.2218 บาท
          เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 4.4217 บาท

ดังนั้นเมื่อนำตัวเลข 428.4 หน่วย / เดือน มาใช้คำนวณ ก็จะสามารถแจกแจงออกมาได้ ดังนี้
          150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1 - 150) จะได้ 150 x 3.2484 รวมเป็นเงิน 487.26 บาท
          250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151 – 400) จะได้ 250 x 4.2218 รวมเป็นเงิน 1,055.45 บาท
          เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 – 428.4) จะได้ 28.4 x 4.4217 รวมเป็นเงิน 125.57 บาท
รวมตัวเลขทั้งหมดเข้าด้วยกันก็จะได้เป็นค่าไฟ 487.26 + 1,055.45 + 125.57 = 1,668.28 บาท / เดือน (ก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
(ถ้าเป็นการคำนวณค่าไฟประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประเภทบ้านอยู่อาศัย สามารถดูรายละเอียดได้ทาง https://www.mea.or.th/our-services/tariff-calculation/other)

ขั้นตอนที่ 4 คำนวณค่า Ft และภาษีมูลค่าเพิ่ม

          ยังไม่จบแค่นี้นะ เพราะตัวเลข 1,668.28 บาท ยังไม่สามารถใช้อ้างอิงเป็นค่าไฟได้ เราต้องรวมค่า Ft และภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปก่อน โดยค่า Ft ก็คือ ค่าต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อัตราเงินเฟ้อ ราคาเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาจะมีความแตกต่างกัน โดยจะมีการมีการปรับในทุก ๆ 4 เดือน และล่าสุด ค่า Ft ก็ได้ถูกปรับเป็น 91.19 สตางค์/ หน่วย ซึ่งสูตรการคำนวณค่า Ft และภาษีมูลค่าเพิ่ม มีดังนี้
          ค่าไฟฟ้า = (ค่าไฟฟ้าที่คำนวนได้ + (Ft x จำนวนหน่วย) ÷ 100) x 1.07
ดังนั้นเมื่อนำตัวเลข 1,668.28 บาท ที่ได้มาใส่ลงในสูตรก็จะเป็น
          (1,668.28 + (91.19 x 428.4) ÷ 100) x 1.07 = 2,203.06 บาท
          สรุปได้ว่าจากตัวอย่างที่ยกมาในตอนต้น เราจะเสียค่าไฟต่อเดือน 2,203.06 บาท ซึ่งทั้งหมดนี้อาจดูหลายขั้นตอนไปสักนิด ดังนั้นการไฟฟ้าจึงช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้นด้วยการออกแบบให้เราสามารถคำนวนค่าไฟฟ้าจากเว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้โดยตรง ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้เลย เพียงแต่ว่าเราต้องคาดการณ์หน่วยการใช้ไฟฟ้า ในขั้นตอนที่ 2 ให้เรียบร้อยก่อนนะครับ ถึงจะนำไปกรอกได้ ยังไงลองทำกันดูนะครับ จะได้รู้ว่าเราสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้จากเครื่องใช้ไฟฟ้าตรงจุดไหนบ้าง
การไฟฟ้านครหลวง : https://www.mea.or.th/aboutelectric/116/280/form/11
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค : https://www.pea.co.th/webapplications/EstimateBill/index.html

• เลือกช้อปเครื่องใช้ไฟฟ้า ครบ ถูกและดี ได้ที่หน้าร้าน และหน้าเว็บ คลิก

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สินค้าแนะนำ