ไขข้อสงสัย ถังเก็บน้ำบนดิน หรือ ถังเก็บน้ำใต้ดิน แบบไหนดีกว่ากัน
ทุกคนคิดเหมือนพี่ไทไหมครับ ว่าน้ำคือทรัพยากรทรงคุณค่าที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราในรูปแบบที่ไม่สามารถขาดได้ เพราะแค่เริ่มต้นชีวิตในแต่ละวัน ตื่นนอนขึ้นมาเราก็ต้องใช้น้ำในการล้างหน้าแปรงฟัน ไหนจะใช้ดื่มกิน ใช้อาบน้ำชำระร่างกาย ซักผ้า ล้างจาน ทำความสะอาดบ้าน แทบไม่มีเวลาไหนเลยที่เราจะขาดน้ำ ดังนั้นการขาดน้ำจึงแทบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
พอรู้ตัวกันดีกว่าไม่สามารถขาดน้ำได้ จึงเป็นที่มาของการหาทางออกในการเก็บน้ำไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ด้วยการนำถังเก็บน้ำมาติดตั้งในบ้าน วันไหนท่อแตกน้ำไม่ไหลจะได้มีน้ำใช้ไม่เกิดปัญหาตามมา แต่ในปัจจุบันถังเก็บน้ำมีทั้งในรูปแบบถังเก็บน้ำบนดิน และถังเก็บน้ำใต้ดิน จะเลือกใช้แบบไหนให้เหมาะสมที่สุดคือสิ่งที่ต้องตัดสินใจตามมา ดังนั้นพี่ไทจึงขอชวนทุกคนมาทำความรู้จัก เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของถังเก็บน้ำบนดิน และถังเก็บน้ำใต้ดิน จะได้เลือกใช้กันได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับที่พักอาศัย แต่ก่อนที่จะไปเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย พี่ไทมีสูตรคำนวณขนาดของถังเก็บน้ำแบบเบื้องต้นมาแนะนำคร่าว ๆ จะได้เลือกขนาดที่เหมาะสมพอดีกับความจำเป็น
โดยทั่วไปแล้วคนเราใช้น้ำปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน ดังนั้นถ้าที่พักอาศัยของเรามีคนอยู่ทั้งหมด 4 คน และเราต้องการเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ 1 วัน ขนาดถังเก็บน้ำไม่ควรน้อยกว่า 200 x 4 = 800 ลิตร นั่นเอง นี่คือสูตรคำนวณง่าย ๆ ที่พี่ไทอยากให้ลองคำนวณดูก่อนเลือกถังเก็บน้ำ ส่วนเรื่องของการเปรียบเทียบถังเก็บน้ำบนดิน และถังเก็บน้ำใต้ดินนั้น มีดังต่อไปนี้
ถังเก็บน้ำบนดิน ลักษณะของถังเก็บน้ำชนิดนี้ก็ตามชื่อของมันเลยว่าเป็นถังเก็บน้ำที่ตั้งอยู่บนพื้นดิน มักติดตั้งบริเวณหลังบ้าน ข้างบ้าน หรือบนดาดฟ้า ถังเก็บน้ำบนดินมี 3 ประเภทให้เลือกใช้งาน ได้แก่ ถังเก็บน้ำสเตนเลส ถังเก็บน้ำไฟเบอร์กลาส และถังเก็บน้ำพลาสติก ถ้าทำการติดตั้งถังเก็บน้ำบนพื้นดินนิยมลงเสาเข็มสั้น และเทฐานคอนกรีตเพื่อรองรับถังเก็บน้ำไม่ให้พื้นดินในบริเวณนั้นทรุดจากน้ำหนักน้ำที่มากเกินไป
ถังเก็บน้ำใต้ดิน เป็นถังเก็บน้ำที่ติดตั้งอยู่ใต้พื้นดิน เหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่น้อยมีอาณาบริเวณจำกัด ไม่สามารถจัดวางถังเก็บน้ำบนดินได้ และเนื่องจากถังน้ำอยู่ใต้ดินทำให้วัสดุที่ใช้ในการทำถังเก็บน้ำจึงต้องมีความแข็งแรงมากเป็นพิเศษ ได้แก่ ถังน้ำที่ทำจากคอนกรีต หรือถังน้ำพลาสติกที่ออกแบบมาเฉพาะติดตั้งใต้ดินโดยเฉพาะ และยังคงต้องติดตั้งด้วยการลงเสาเข็มสั้น และเทฐานคอนกรีตเพื่อรองรับน้ำหนักถังเก็บน้ำเหมือนกับถังเก็บน้ำบนดิน
พี่ไทขอเปรียบเทียบ ถังเก็บน้ำบนดิน และถังเก็บน้ำใต้ดิน เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ตามตารางด้านล่างนี้
รายละเอียด |
ถังเก็บน้ำบนดิน |
ถังเก็บน้ำใต้ดิน |
พื้นที่ติดตั้ง |
ใช้พื้นที่ในการติดตั้ง รอบบริเวณบ้าน |
ไม่ต้องการพื้นที่ในการติดตั้ง |
อุณหภูมิน้ำ |
อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงตามสภาพภูมิอากาศ |
อุณหภูมิน้ำคงที่ ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง |
การเคลื่อนย้าย |
เคลื่อนย้ายง่าย |
ไม่สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย |
การทำความสะอาด |
ทำความสะอาดง่าย |
ยากต่อการทำความสะอาด |
การบำรุงรักษา |
บำรุงรักษาง่าย ไม่ยุ่งยาก |
ยากต่อการบำรุงรักษา |
ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง |
ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก |
ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูง |
พอจะเลือกกันได้แล้วใช่ไหมครับ ว่าที่พักอาศัยของเราเหมาะสมกับการติตตั้งถังเก็บน้ำแบบไหน สรุปแบบง่าย ๆ ก็คือให้ดูพื้นที่ในการติดตั้งก่อนเป็นอันดับแรก ว่าเพียงพอต่อการติดตั้งไหม หลังจากนั้นค่อยดูปัจจัยอื่น ๆ เสริมตามมา แต่ถ้าใครอยากติดตั้งบนดาดฟ้า ก็ขอให้ระมัดระวังเรื่องโครงสร้างให้ดีนะครับ อย่าปล่อยให้ที่พักอาศัยของเรารับน้ำหนักที่มากจนเกินไป ไม่งั้นอาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันตามมาได้
• เลือกช้อปถังเก็บน้ำ ครบ ถูกและดี ได้ที่หน้าร้าน และหน้าเว็บ คลิก
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สินค้าแนะนำ