ตรวจสอบไฟรั่ว ประหยัดค่าไฟ เช็คความปลอดภัยรอบบ้าน
นอกจากปัญหาความร้อนปรอทแตกของอากาศ จนทำให้เกิดอาการฮีทสโตรกในช่วงนี้แล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่ห้ามมองข้ามโดยเด็ดขาด ก็คือปัญหาอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ข้อมูลของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ได้ระบุเอาไว้ในเว็บไซต์ของหน่วยงานว่า สาเหตุอันดับ 1 ของการเกิดอัคคีภัยก็คือไฟไหม้หญ้าและการเผาขยะ ส่วนรองลงมานั้นก็คือไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงแล้วไฟไหม้หญ้าและการเผาขยะคือสาเหตุที่ควมคุมได้ยากกว่าไฟฟ้าลัดวงจร เพราะอาจเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ หรืออาจเกิดจากความตั้งใจในการเผา แต่สาเหตุรองลงมาอย่างไฟฟ้าลัดวงจร เราสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อตัดไฟเสียแต่ต้นลมได้ ด้วยการตรวจเช็คความปลอดภัยรอบที่พักอาศัย กันไว้ดีกว่าแก้ ป้องกันในส่วนที่เราทำได้ด้วยตนเองย่อมดีที่สุด
นอกจากนี้การตรวจเช็คความปลอดภัยในบริเวณที่พักอาศัยยังมีส่วนสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาที่กระเทือนสภาพคล่องของกระเป๋าเงินเจ้าของบ้านมากที่สุดอย่างค่าไฟแพง ที่กำลังเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทุกคนประสบอยู่ในเวลานี้ เพราะนอกจากความปลอดภัยแล้ว การที่เราทราบว่าจุดไหนมีไฟรั่วแล้วทำการซ่อมแซมแก้ไข ก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่สามารถช่วยให้เราประหยัดค่าไฟได้นั่นเอง วิธีตรวจสอบโดยเบื้องต้น มีดังต่อไปนี้
1. ตรวจสอบเต้ารับปลั๊กไฟทุกจุด
การตรวจเต้ารับปลั๊กไฟคือวิธีการที่ทำได้ง่ายที่สุด และสมควรทำอยู่เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพราะปลั๊กไฟถือเป็นจุดบอบบางที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของอัคคีภัย เพราะโดยส่วนมากแล้วเต้ารับมักทำจากพลาสติก และปลั๊กไฟก็ทำจากพลาสติก ซึ่งพลาสติกก็คือฉนวนนำไฟฟ้า ดังนั้นการลุกลามอาจเกิดขึ้นตามมาอย่างรวดเร็วถ้าเกิดเหตุไฟไหม้ ส่วนวิธีการตรวจสอบนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แค่เตรียมไขควงลองไฟให้พร้อม ก็เริ่มทำการตรวจสอบได้ทันที จุดไหนที่ไฟไม่เข้า ก็สันนิษฐานได้เลยว่าเต้ารับเสีย ให้ทำการแก้ไขให้เรียบร้อยการนำมาใช้อีกครั้ง โดยขั้นตอนนี้นอกจากบริเวณเต้ารับแล้ว ให้ตรวจเช็คปลั๊กต่อ ปลั๊กพ่วง ให้เรียบร้อยด้วยเช่นเดียวกัน
2. ตรวจสอบสายไฟ
ต่อจากเต้ารับปลั๊กไฟ สายไฟคือสิ่งที่ควรต้องตรวจสอบให้ดีเช่นเดียวกัน โดยส่วนมากแล้วสายไฟมักจะถูกผลิตมาเป็นอย่างดีใช้งานได้นานเป็น 10 ปี แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ของที่ถูกใช้งานอยู่เป็นประจำย่อมมีวันเสื่อม เราสามารถสังเกตได้จากบริเวณปลอกหุ้มสายไฟถ้าเปลี่ยนสี มีสีที่แตกต่างไปจากเดิม แสดงว่าอาจเริ่มมีการเสื่อมสภาพ และถ้าลุกลามไปถึงขั้นสายไฟแตกขาดจนเห็นทองแดงด้านในก็ควรเปลี่ยนทันที ส่วนสายไฟที่ติดตั้งอยู่ภายในบ้านใต้ฝ้าใต้ผนัง ให้ทำการเรียกช่างไฟมาทำการตรวจสอบ ลงทุนเพื่อเพิ่มความปลอดภัย
3. ตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้า
หน้าบ้านทุกคนย่อมมีมิเตอร์ไฟฟ้าตั้งอยู่หน้าบ้าน ถ้าพักอาศัยอยู่ตามคอนโดหรืออพาร์ทเม้นท์ ก็จะมีมิเตอร์แยกสำหรับของเราโดยเฉพาะ ดังนั้นจึงสามารถทำการสำรวจได้ทันที โดยวิธีการสำรวจง่าย ๆ ก็คือ ปิดระบบไฟฟ้าภายในที่พักอาศัยให้หมด ถอดปลั๊กทุกจุดให้เรียบร้อย แล้วค่อยออกไปตรวจสอบที่มิเตอร์ไฟฟ้า ถ้ามิเตอร์ไม่หยุดหมุน ก็สามารถสัญนิษฐานได้เลยว่า อาจเกิดไฟรั่วขึ้นภายในบ้าน ให้เรียกช่างไฟมาทำการแก้ไขโดยทันที ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลาย
4. ตรวจสอบคัทเอาท์และเบรกเกอร์
การติดตั้งคัทเอาท์และเบรกเกอร์ภายในบ้านคือวิธีการสร้างความปลอดภัยที่ดีที่สุด แต่คัทเอาท์หรือเบรกเกอร์ก็คืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดหนึ่งย่อมมีการเสื่อมไปตามสภาพ ดังนั้นเราอาจตรวจสอบเพื่อเช็คดูว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้าง เช่น มีสัตว์เข้าไปทำรังหรือไม่ สายไฟมีการเสื่อมสภาพหรือเปล่า หรือเราอาจจะทำการตรวจสอบด้วยการสับสวิชต์ทุกตัวเพื่อเช็คประสิทธิภาพในการทำงาน เสริมความปลอดภัยให้มีมากขึ้นกว่าเดิม
5. ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้า
จุดเล็ก ๆ อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านก็มีความสำคัญไม่แพ้จุดอื่น ๆ ควรที่จะใส่ใจมากกว่าละเลย เช่น โทรทัศน์, พัดลม, หม้อหุงข้าว, เครื่องซักผ้า ฯลฯ ควรตรวจสอบปลั๊กเสียบว่าสมบูรณ์อยู่หรือไม่ มีรอยไหม้หรือละลายเพราะความร้อนหรือเปล่า สายไฟขาด กรอบ เหลือง ชำรุด หรือมีไฟรั่วหรือเปล่า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าตัวไหนที่ต้องต่อสายดินก็ควรที่จะติดตั้งสายดินให้เรียบร้อย ป้องกันไฟฟ้ารั่ว
โจรขึ้นบ้านสิบครั้ง ไม่เท่ากับไฟไหม้ครั้งเดียว คำกล่าวที่ว่านี้ไม่เกินเลยไปแม้แต่น้อย ดังนั้นพี่ไทคิดว่าเราควรที่จะหมั่นตรวจเช็คด้วยวิธีการเหล่านี้อยู่เป็นประจำ เสียเวลาสักเล็กน้อยเพื่อความปลอดภัยต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ที่ไม่อาจกู้กลับคืนมาได้ในยามที่เกิดอัคคีภัย
• เลือกช้อปอุปกรณ์งานไฟฟ้า ครบ ถูกและดี ได้ที่หน้าร้าน และหน้าเว็บ คลิก
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สินค้าแนะนำ