ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย ครบเรื่องบ้าน ถูกและดี
logo_mobile
search
เลือกสาขา
หน้าแรก
บทความ
เช็คลิสต์เบื้องต้น แก้ไขปัญหาตู้เย็นไม่เย็นได้ด้วยตัวเอง

เช็คลิสต์เบื้องต้น แก้ไขปัญหาตู้เย็นไม่เย็นได้ด้วยตัวเอง


          หากอากาศร้อน เดินทางออกไปไหนมาไหนร่างกายคงชุ่มไปด้วยเหงื่อ ส่วนเนื้อตัวก็คงเหนียวเหนอะหนะ อันสืบเนื่องมาจากอากาศที่ร้อนอย่างรุนแรงเกินกว่าที่ร่างกายจะทนไหวจนต้องคลายเหงื่อออกมา ดังนั้นจุดมุ่งหมายแรกหลังจากกลับเข้าบ้านคงหนีไม่พ้นน้ำเย็นจากในตู้เย็นสักแก้ว ดื่มเพื่อคลายร้อน ให้ความเย็นจากน้ำช่วยชุบชีวาให้กลับมาชุ่มชื่นอีกครั้ง แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าน้ำที่แช่ไว้ไม่เย็น พอเอามือสัมผัสของต่าง ๆ ในตู้เย็นก็ไม่มีอะไรเย็นสักอย่าง คำถามที่ตามมาทันทีเลยก็คือ ตู้เย็นเสียหรือเปล่า ต้องตามช่างมาดูหรือไม่ และตัวเราพอที่จะทำอะไรได้บ้าง
          พี่ไทคิดว่าหลายคนน่าจะเคยผ่านเหตุการณ์ ที่พี่ไทสมมุติไปในย่อหน้าแรกกันมาบ้างนะครับ ยิ่งในหน้าร้อนคงหนีไม่พ้นเหตุการณ์แบบนี้แน่ ๆ แต่อย่างเพิ่งกังวลใจกันไป เพราะบทความนี้พี่ไทมีวิธีมาเล่าสู่กันฟัง ให้ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง ก่อนที่จะต้องโทรตามช่างให้เสียเวลาเสียเงินทองโดยใช้เหตุ ตามมาดูกันเลยดีกว่าครับ ว่าต้องทำอย่างไรกันบ้าง

วิธีตรวจเช็คตู้เย็นไม่เย็นแบบเบื้องต้น

1. ตรวจเช็คยางขอบประตูตู้เย็น

          ก่อนอื่นให้เริ่มจากการตรวจเช็คยางขอบประตูเป็นอันดับแรก โดยให้เตรียมกระดาษไว้ 1 แผ่น หลังจากนั้นให้เปิดประตูตู้เย็นออกมา สอดกระดาษเข้าไปครึ่งแผ่น แล้วใช้มืออีกข้างที่ไม่ได้จับกระดาษปิดประตูตู้เย็น โดยให้ประตูตู้เย็นหนีบกระดาษเอาไว้ หลังจากนั้นค่อย ๆ ดึงกระดาษออกมา ถ้ารู้สึกว่าแน่นดึงกระดาษออกไม่ได้ แสดงว่าตู้เย็นยังปิดได้สนิทดีไม่มีปัญหาใด ๆ แต่ถ้าดึงกระดาษออกมาได้ง่าย แสดงว่ายางขอบประตูตู้เย็นอาจเริ่มเสื่อมสภาพ ส่งผลให้ตู้เย็นปิดไม่สนิท เป็นที่มาของอาการตู้เย็นไม่เย็น โดยสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการทำความสะอาดยางขอบประตูด้วยผ้าชุบน้ำสะอาด กำจัดฝุ่นและคราบสกปรกออกให้หมด หลังจากนั้นให้ทำการทดสอบอีกครั้ง ถ้ายังไม่หายแนะนำให้ซื้อยางขอบประตูมาเปลี่ยนใหม่


2. ตรวจเช็คพื้นที่วางตู้เย็น

          พื้นที่ในการวางตู้เย็นคือหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม การให้ตู้เย็นอยู่ในพื้นที่อับ ไม่มีอากาศถ่ายเท ความร้อนในตู้เย็นก็จะพุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการทำความเย็น โดยพื้นที่ที่เหมาะสมในการวางตู้เย็นนั้นความเป็นพื้นที่ปลอดโปร่ง ไม่อับชื้น ด้านหลังตู้เย็นควรห่างจากผนังอย่างน้อย 10 เซนติเมตร ส่วนด้านข้างตู้เย็นควรห่างจากผนังอย่างน้อย 5 เซนติเมตร และควรมีระยะห่างจากเพดานอย่างน้อย 30 เซนติเมตร เพื่อให้การระบายความร้อนเป็นไปได้อย่างสะดวกที่สุด


3. ตรวจเช็คระดับการวางตู้เย็น

          การวางตู้เย็นที่ดีนอกจากวางให้ห่างจากกำแพงตามที่ระบุในข้อที่ 2 แล้ว ยังต้องวางให้ได้ระดับด้วย เพราะการวางไม่ได้ระดับอาจทำให้ตู้เย็นปิดไม่สนิท โดยในปัจจุบันตู้เย็นรุ่นใหม่จะมีขาตู้ที่สามารถปรับขึ้นลงได้ด้วยตัวเอง ให้เราปรับให้ขาตู้ด้านหน้าสูงกว่าขาตู้ด้านหลังเล็กน้อย ตู้เย็นจะตั้งอยู่ในลักษณะเชิดหน้าขึ้นจะช่วยทำให้ประตูตู้เย็นปิดสนิทได้ดีขึ้น แต่ถ้าเป็นตู้เย็นรุ่นเก่า ให้หาแผ่นไม้บาง ๆ มารองขาตู้เย็นด้านหน้า ก็จะช่วยให้ตู้เย็นตั้งอยู่ในลักษณะเชิดหน้าขึ้นได้เช่นเดียวกัน


4. ตรวจเช็คของที่แช่ในตู้เย็น

          การนำของแช่ในตู้เย็นมากจนเกินไปคือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อความเย็นของตู้เย็น โดยก่อนอื่นให้ลองนึกสภาพห้องแอร์ที่มีคนอาศัยอยู่ในห้อง 2 - 3 คน ในห้องก็จะเย็นสบายอากาศถ่ายเท แต่เมื่อไหร่ที่มีคนเข้ามาอยู่เพิ่มมากขึ้นอากาศก็จะเริ่มเย็นน้อยลงหายใจลำบากขึ้น ตู้เย็นก็เช่นเดียวกัน ยิ่งมีของแช่อยู่ในตู้เย็นมากเท่าไหร่ ความเย็นของตู้เย็นก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น ดังนั้นทุก 1 เดือน ควรหาเวลาเคลียร์ของในตู้เย็นสัก 1 ครั้ง อะไรที่ใกล้เสีย หมดอายุ ก็นำออกมาทิ้งให้หมด ตู้เย็นจะได้กลับมาเป็นปกติ ทำงานได้ดีเหมือนเดิม


5. ตรวจเช็คช่องแช่แข็ง

          ช่องแช่แข็งหรือที่หลายคนอาจเรียกกันติดปากว่าช่องฟรีซ คือช่องที่ใช้รักษาและถนอมอายุของอาหารได้นานกว่าบริเวณอื่น ๆ ภายในตู้เย็น โดยอาหารที่เก็บไว้จะไม่เสียรสชาติ เพราะช่องแช่แข็งนั้นมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะกับการใช้ถนอมอาหารระยะยาว แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นภายในช่องแช่แข็ง อันสืบเนื่องมาจากความเย็นจัด ซึ่งก้อนน้ำแข็งเหล่านี้จะเป็นตัวขัดขวางการทำความเย็นให้มีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้นการละลายน้ำแข็งจึงเป็นทางออกที่สมควรทำทันทีเมื่อเห็นว่ามีก้อนน้ำแข็งเริ่มก่อตัว รวมไปถึงการเคลียร์ของที่อยู่ในช่องแช่แข็งนานจนเกินไปก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน โดยทั้งหมดนี้ให้ทำเป็นประจำ 1 เดือน/ ครั้ง พร้อมไปกับการตรวจเช็คของที่แช่ในตู้เย็น ลดภาระการทำงานของตู้เย็นได้ดีที่สุด


          หลังจากตรวจเช็คครบทั้ง 5 ข้อตามที่พี่ไทบอกแล้ว แต่ปรากฏว่าตู้เย็นยังคงไม่เย็นอยู่เหมือนเดิม ไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร อาจจะสามารถอนุมานได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นใหญ่กว่าที่เราคิด ไม่ว่าจะเป็น คอมเพรสเซอร์เสีย, พัดลมระบายอากาศพัง, คอยล์เย็นไม่ทำงาน ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาเฉพาะทาง ดังนั้นการเรียกช่างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจเช็คจึงเป็นคำตอบสุดท้าย และเป็นคำตอบที่ดีที่สุด สุดท้ายพี่ไทขอแนะนำว่าอย่างเสี่ยงที่จะรื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในตู้เย็นออกมาดูด้วยตนเอง ไม่งั้นปัญหาอาจบานปลายไม่จบแค่เรียกช่างมาซ่อม แต่อาจไปจบที่เสียเงินซื้อตู้เย็นใหม่ก็เป็นได้

ขอบคุณภาพจาก: thekitchn.com, beko.co.uk, hisense-usa.com, tastingtable.com, familyhandyman.com

• เลือกช้อปตู้เย็น ครบ ถูกและดี ได้ที่หน้าร้าน และหน้าเว็บ คลิก

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สินค้าแนะนำ