จบปัญหาเสียงรบกวนด้วยฉนวนกันเสียง
ที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะในรูปแบบใด ล้วนแล้วแต่คือสถานที่แห่งความสุข สถานที่แห่งการพักผ่อน ที่ทำให้เราปลดภาระลงจากบ่าแล้วเอนกายลงพักผ่อนคลายเหนื่อยจากหน้าที่การงาน หรือไม่ว่าอะไรก็ตาม แต่สภาพแวดล้อมรอบด้านอาจจะไม่เป็นใจให้เราสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเสียงรบกวนที่มาจากพื้นที่ก่อสร้างข้างบ้าน รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ในกรณีบ้านติดถนน ไม่เว้นแม้แต่เสียงรบกวนจากห้องข้าง ๆ สำหรับคนที่พักอาศัยอยู่ในรูปแบบคอนโด อพาร์ทเม้นท์
ดังนั้นเพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านี้รบกวนการพักผ่อน พี่ไทขอแนะนำให้ทุกคนแก้ไขด้วยการติดตั้งฉนวนกันเสียงที่บริเวณฝ้า และผนังภายในบ้าน ป้องกันไม่ให้เสียงรบกวนผ่านเข้ามาในยามพักผ่อน แต่ก่อนที่จะไปเลือกซื้อฉนวนกันเสียงมาติดตั้ง เรามาทำความรู้จักฉนวนกันเสียงกันก่อนดีกว่าครับ
ฉนวนกันเสียง คือแผ่นฉนวนที่ใช้ในการกันเสียงไม่ให้ไหลผ่าน หรือลดการส่งผ่านของเสียงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้เสียงผ่านเข้ามาด้านในห้อง หรือผ่านออกไปด้านนอกของห้อง ฉนวนกันเสียงผลิตจากยางสังเคราะห์ หรือเส้นใยชนิดต่าง ๆ เช่น ใยหิน ใยแก้ว ซึ่งเส้นใยเหล่านี้จะมีคุณสมบัติพิเศษในการกันเสียง และกันความร้อนได้อย่างดี รวมไปถึงไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์อีกด้วย โดยการติดตั้งฉนวนกันเสียงจะติดตั้งบริเวณฝ้าเพดาน และภายในโครงสร้างของทั้งผนัง รวมไปถึงสามารถติดตั้งไว้ใต้พื้น หากไม่ต้องการให้เสียงจากชั้นล่างขึ้นมารบกวน เหมาะสำหรับการนำมาใช้งานภายในห้องต่าง ๆ เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน ห้องประชุม ห้องสัมมนา หรือห้องที่ต้องการความเงียบสงบ
ประโยชน์ของฉนวนกันเสียง
• ปกป้องผู้อยู่อาศัยจากเสียงรบกวนภายนอก ช่วยเสริมสร้างความเป็นส่วนตัว และความสะดวกสบายให้กับผู้อยู่อาศัย
• ลดการสะท้อน และการส่งผ่านของเสียงภายในที่พักอาศัย ทำให้เสียงไม่ก้อง ไม่สะท้อนไปมา
• ป้องกันเสียงดังจากสภาพอากาศ เช่น ฝนตก ลูกเห็บตก ฉนวนกันเสียงจะคอยดูดซับเสียงที่กระทบกับหลังคา ทำให้เสียงที่ตกกระทบเบาลง
ประเภทของฉนวนกันเสียง
ฉนวนกันเสียงใยแก้วที่มีความหนาแน่นต่ำ
ฉนวนประเภทแรกเป็นประเภทที่มีราคาไม่แพงมากนัก หาซื้อง่าย และได้รับความนิยม ผลิตจากใยแก้วชนิดบาง ความหนาแน่นจึงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก จึงเหมาะกับแก้ไขปัญหาเสียงรบกวนที่ไม่ดังจนเกินไป เช่น ติดตั้งไว้ในห้องนอนเพื่อกลบเสียงรบกวนจากภายนอก หรือติดตั้งในคอนโดกลบเสียงรบกวนจากห้องที่อยู่ติดกัน
ฉนวนกันเสียงใยแก้วที่มีความหนาแน่นสูง
ฉนวนชนิดนี้มีราคาสูงขึ้นมาจากฉนวนประเภทแรก เพราะผลิตจากใยแก้วที่มีความหนาของเส้นค่อนข้างหนา จึงเหมาะสำหรับการป้องกันเสียงในพื้นที่ที่มีเสียงดังรบกวนมาก เช่น โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการทำงานของเครื่องจักร ช่วยตัดเสียงรบกวนจากภายในโรงงานออกสู่ภายนอก
ฉนวนกันเสียงยางสังเคราะห์
ผลิตจากโฟมโพลีเอทิลีน หรือ โพลียูรีเทน เป็นฉนวนกันเสียงที่มีน้ำหนักเบา และมีราคาที่ไม่แพงมากนัก นอกจากนี้ยังมีความทนทานสูง และทนต่อความชื้นได้ดี จึงไม่ก่อให้เกิดเชื้อราเมื่อใช้ไปในระยะเวลานาน เหมาะสำหรับการนำมาปูบนฝ้าเพดานภายในบ้าน คอนโด โรงแรม อาคารสำนักงาน ห้างสรรสินค้า เพราะมีน้ำหนักเบา
ฉนวนกันเสียงใยหิน
เป็นเส้นใยสังเคราะห์ที่ได้มาจากธรรมชาติ ผลิตมาจากหินปูนและหินบาซอลท์ที่ถูกนำไปหลอมในเตาเผาอูณหภูมิสูงและนำมาทำเป็นเส้นใย มีคุณสมบัติในการกันเสียงที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังสามารถกันความร้อน รวมไปถึงสามารถกันไฟได้ในระยะนึงอีกด้วย จึงเหมาะสำหรับการนำมาติดตั้งภายในอาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม ภายในพื้นที่ขนาดใหญ่
วิธีเลือกฉนวนกันเสียง
การเลือกฉนวนกันเสียงนั้น ควรเลือกจากความสามารถในการกั้นเสียงตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการใช้งาน ซึ่งดูได้จาก 2 ค่าสำคัญของวัสดุกั้นเสียง
STL (Sound Transmission Loss) ค่าความสามารถในการลดการส่งผ่านของเสียงจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง ยิ่งค่านี้สูงมากเท่าไร ก็ยิ่งลดเสียงได้มาก
STC (Sound Transmission Class) ค่าที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการให้เสียงจากอากาศผ่านไปได้มากน้อยแค่ไหนบนกำแพง พื้น หรือฝ้าเพดาน เป็นค่าเฉลี่ยที่คำนวณมาจากค่า STL อีกที สามารถแบ่งเป็นเกณฑ์วัดได้ดังนี้
• STC 40 กันเสียงได้เล็กน้อย ได้ยินเป็นเสียงเบา ๆ ในเวลาที่พูดคุยระดับเสียงปกติ
• STC 50 กันเสียงได้ดีขึ้น หากมีเสียงตะโกนจะได้ยินเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าพูดคุยกันในระดับปกติจะไม่ได้ยิน เหมาะกับการทำห้องประชุม
• STC 60 ในระดับนี้จะไม่ได้ยินเสียงตะโกนเลย เหมาะกับห้องที่ต้องการความเงียบ เช่น ห้องอัดเสียง หรือห้องซ้อมดนตรี หรือโฮมเธียเตอร์ภายในบ้าน
• STC 70 ขึ้นไป กันเสียงได้ในระดับสูงสุด เหมาะสำหรับโรงหนัง สถานบันเทิง โรงงานอุตสาหกรรม
เมื่อรู้แล้วว่าฉนวนกันเสียงช่วยเรื่องอะไร และมีแบบใดให้เลือกใช้งานบ้าง คุณก็จะสามารถเลือกฉนวนกันเสียงแบบที่เหมาะกับที่อยู่อาศัยมาติดตั้งได้ตามความเหมาะสมแล้ว แต่เรื่องการติดตั้งนั้น แนะนำให้ช่างผู้มีความชำนาญมาติดตั้งให้จะดีที่สุดครับ เพราะฉนวนกันเสียงต้องอาศัยความชำนาญในการติดตั้ง จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง จะได้ลดเสียง หรือกันเสียงรบกวนเข้าสู่ตัวบ้าน หรือแต่ละห้องได้ตามต้องการ
ขอบคุณภาพจาก: forbes.com, indiamart.com, bax-shop.co.uk, easy-noisecontrol.com, thespruce.com, sagittariusairseal.com
• เลือกช้อปฉนวนกันเสียง ครบ ถูกและดี ได้ที่หน้าร้าน และหน้าเว็บ คลิก
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สินค้าแนะนำ