ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย ครบเรื่องบ้าน ถูกและดี
logo_mobile
search
เลือกสาขา
หน้าแรก
บทความ
รู้จัก "วัสดุก่อสร้างกันร้อน" คลายร้อนให้บ้านแบบไม่ต้องเปลืองไฟ!

รู้จัก "วัสดุก่อสร้างกันร้อน" คลายร้อนให้บ้านแบบไม่ต้องเปลืองไฟ!

เมืองไทยจะฤดูกาลไหนก็ร้อนแสนร้อน วิธีคลายร้อนที่หลายคนนึกถึงอย่างแรกคงเป็นการเปิดแอร์พร้อมพัดลมให้ฉ่ำหนำใจ แต่ก็ต้องกลุ้มใจเมื่อบิลค่าไฟมาแต่ละที เอาล่ะ ปัญหาบ้านร้อนเหมือนอยู่ในเตาอบจะหมดไป เพียงเราแก้ปัญหาอย่างตรงจุดด้วยการเลือกวัสดุก่อสร้างกันร้อน อย่างหลังคา ฝ้า และฉนวนกันความร้อนให้เหมาะกับความต้องการและสภาพอากาศ เพื่อป้องกันการสะสมความร้อนภายในตัวบ้านตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้าง  ที่สำคัญคือช่วยเรื่องการหมุนเวียนอากาศภายในให้พร้อมรับมือกับอุณหภูมิสูง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้บ้านเย็นลง แถมยังประหยัดพลังงานไปในตัว

หลังคา : เกราะชั้นบนสุดของบ้านที่เจอแดดโดยตรง


หลังคาเป็นด่านแรกที่ช่วยป้องกันรังสีความร้อนที่จะเข้าไปกักเก็บภายในบ้าน เคล็ดลับการเลือกกระเบื้องหลังคาหลัก ๆ ให้ดูที่วัสดุที่ใช้ในการผลิต โดยการเลือกส่วนประกอบหลักที่นำความร้อนต่ำ และคลายความร้อนดีถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ดังนั้นหลังคาเซรามิกจึงตอบโจทย์ถ้าคำนึงเรืองคุณสมบัติการป้องกันความร้อนเป็นหลัก เพราะเนื้อของกระเบื้องกักเก็บความร้อนน้อย คลายความร้อนได้เร็วกว่า อีกประเภทที่น่าสนใจก็คือ หลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ ที่มีค่าการนำความร้อนต่ำเช่นกัน แต่ก็ยังน้อยกว่ากระเบื้องเซรามิก แต่ทั้งทั้งคู่สามารถป้องกันความร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ

ฝ้า : ตัวช่วยให้บ้านเย็นที่ใคร ๆ ก็ติดตั้ง

ความร้อนที่ส่งผ่านหลังคาเข้ามาภายในบ้าน เราสามารถติดตั้งฝ้า เพื่อเป็นตัวช่วยป้องกันความร้อนที่ส่งผ่านมาจากกระเบื้องหลังคา ดังนั้นการเลือกฝ้า ก็ควรเลือกฝ้าที่มีค่าการนำความร้อนต่ำ รวมถึงมีความแข็งแรงทนทาน มีความยืดหยุ่น ทนความชื้นได้ดี และไม่มีใยหินที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยฝ้าที่ติดตั้งภายนอกเราจะเรียกว่า “ฝ้าชายคา” ส่วนฝ้าที่ติดตั้งภายในเราเรียกว่า “ฝ้าเพดาน” ทั้งคู่มีเคล็ดลับในการเลือกซื้อเพื่อจัดการปัญหาเรื่องความร้อน และเพื่อความเหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน ดังนี้

  • ฝ้าชายคา : ส่วนใหญ่ฝ้าภายนอกจะเป็นวัสดุประเภทไฟเบอร์ซีเมนต์ ไม้เทียม สมาร์ทบอร์ด เพราะทนต่อความเปียกชื้นได้ดี และถ้าคำนึงเรื่องความร้อนที่เกิดกับตัวบ้าน เราขอแนะนำให้เลือกฝ้าชายคาที่มีร่องระบายอากาศ เพื่อระบายความร้อนและรับลมเย็นในหนึ่งเดียว เพราะอย่างบริเวณโถงหลังคาซึ่งเป็นจุดที่สะสมความร้อน ถ้าไม่มีการระบายความร้อนออกไป ความร้อนนั้นจะแผ่กลับเข้ามาสู่ภายในตัวบ้าน ทำให้บ้านร้อนอบอ้าวนั่นเอง
  • ฝ้าเพดาน : ส่วนใหญ่ฝ้าภายในจะเป็นวัสดุประเภทไฟเบอร์ซีเมนต์ สมาร์ทบอร์ด ยิปซัมบอร์ด ไม้ธรรมชาติ หรือไวนิล ขึ้นอยู่กับห้องที่จะใช้งาน ไม่ว่าจะเลือกวัสดุชนิดไหนเราขอแนะนำให้เลือกแบบเรียบ เพื่อไม่ให้ความร้อนเข้ามาภายในตัวบ้านนั่นเอง

ฉนวนกันความร้อน : ผู้ช่วยป้องกันความร้อนอีกขั้น

ความร้อนจากแสงแดดที่กระทบกับหลังคา ผ่านฝ้าและส่งลงมาภายในบ้าน ทำให้บ้านของเราร้อนอบอ้าวและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก การติดตั้งฉนวนกันความร้อนจึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่ช่วยลดความร้อนภายในบ้านได้เป็นอย่างดี โดยฉนวนกันความร้อนจะมีลักษณะเบา ประกอบด้วยฟองอากาศเล็กจิ๋วจำนวนมาก มีคุณสมบัติสกัดกั้นความร้อนให้อยู่ในฟองอากาศ จึงไม่นำพาความร้อนไปยังส่วนอื่น ๆ นั่นเอง ซึ่งฉนวนกันความร้อนสามารถติดตั้งได้ทั้งบ้านใหม่-บ้านเก่า และติดตั้งได้หลายจุด ไม่ว่าจะเป็นบนฝ้าเพดาน ใต้หลังคา หรือแม้แต่ภายในผนังบ้าน สำหรับเทคนิคการเลือกซื้อ เรามีข้อแนะนำมาฝาก ดังนี้

  • ค่า K ต้องต่ำ ค่า R ต้องสูง : เวลาจะซื้อฉนวนกันความร้อนให้สังเกตค่าเหล่านี้ เพื่อให้ได้ฉนวนกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพ และป้องกันความร้อนได้อย่างดีเยี่ยม
    • ค่า K (Thermal Conductivity) คือค่าการนำความร้อน “ยิ่งต่ำ ยิ่งดี” เพราะปกติอากาศร้อนจะเข้าไปแทนที่อากาศเย็น ถ้าวัสดุนั้นมีค่าการนำความร้อนต่ำ ความร้อนก็จะเข้ามาที่ตัวบ้านได้น้อยลง ดังนั้นค่า K ยิ่งน้อยก็จะแสดงให้เห็นว่าฉนวนสามารถป้องกันความร้อนได้ดี มีหน่วยเป็น W/mK
    • ค่า R (Thermal Resistance) คือค่าต้านทานความร้อน “ยิ่งสูง ยิ่งดี” เพราะค่านี้จะเป็นตัวบ่งบอกว่าฉนวนสามารถยับยั้งการถ่ายเทความร้อนเท่าไหร่ มีหน่วยเป็น m2K/W ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความหนาและค่า K ของฉนวนนั้น ๆ ด้วย
    • สูตรของการคำนวณหาค่าต้านทานความร้อน คือ R = ความหนาของวัตถุ / ค่าการนำความร้อน (K)


      • เลือกประเภทของฉนวนให้เหมาะกับพื้นที่ติดตั้ง : โดยประเภทของฉนวนกันความร้อนทั่วไปจะมีด้วยกันหลัก ๆ 5 ชนิด ได้แก่
        • ฉนวนอะลูมิเนียมฟอยล์ : เป็นแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ทั้งสองหน้า มีความบางเรียบและเหนียว สะท้อนความร้อนได้สูง หาซื้อง่าย ราคาถูก ทนความชื้นได้ดี แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ภายในบ้านมากนัก มักจะติดตั้งในส่วนบริเวณของโครงหลังคา และต้องใช้งานร่วมกับฉนวนประเภทอื่น
        • ฉนวนใยเซลลูโลส : เป็นฉนวนที่มาจากการรีไซเคิล ด้วยการนำเยื่อไม้หรือเยื่อกระดาษที่ใช้แล้วมาย่อยจนละเอียด และประสานเข้าด้วยกันด้วยบอแร็กซ์ กันความร้อนได้ดี แต่ไม่ค่อยทนน้ำและความชื้น และมีโอกาสติดไฟได้
        • ฉนวนโพลียูริเทน หรือ PU Foam : ลักษณะเป็นช่องอากาศที่มีโพรงจำนวนมาก  จึงแนบไปกับแผ่นใต้หลังคาได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเรื่องระบายความร้อน
        • ฉนวนใยแก้ว : ลักษณะเป็นเส้นใยอัดรวมหุ้มด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ เป็นโครงสร้างที่ไม่ทึบ ช่วยลดปริมาณความร้อนที่จะผ่านเข้าสู่ตัวอาคารได้มาก ซึ่งตัวแผ่นฟอยล์ช่วยกันไม่ให้ความร้อนบริเวณด้านในฉนวนออกมา และช่วยกันเสียงได้ดี น้ำหนักเบา เหมาะกับการติดตั้งแปหลังคา แต่ไม่เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่เปิดโล่ง
        • ฉนวนแคลเซียมซิลิเกต : มีลักษณะพรุน มีทั้งแบบเป็นใยแร่และเส้นใยสังเคราะห์ ต้านทานความร้อนได้ดี ทาสีทับได้ ค่อนข้างทนไฟ นิยมใช้ในการหุ้มท่อและภาชนะในกระบวนการทางอุตสาหกรรม
      • ถ้าติดตั้งภายในบ้าน : เราแนะนำให้เลือกฉนวนกันความร้อนประเภทที่ผลิตจากใยแก้ว เพราะไม่ลามไฟ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

      ช้อปปิ้งสินค้า หลังคา ฝ้า ฉนวนกันความร้อน ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กับไทวัสดุ

      สัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าเพื่อบ้านบนโลกออนไลน์ได้แล้ววันนี้กับ ไทวัสดุ ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย จำหน่ายหลังคา ฝ้าชายคา ฉนวนกันความร้อน วัสดุก่อสร้างหลากหลายชนิด ตอบโจทย์ทุกความต้องการ สั่งง่าย สะดวกรวดเร็ว เลือกรับสินค้าที่สาขาด้วยตนเอง หรือเลือกรับสินค้าที่บ้าน บริการจัดส่งทั่วประเทศ สั่งผ่านออนไลน์ได้ที่ thaiwatsadu.com หรือติดต่อผ่านช่องทาง Chat & Shop LINE @thaiwatsadu โทร. 1308