ชนิดของขั้วหลอดไฟ ทำความรู้จักไว้ จะได้ซื้อไม่ผิด
ขั้วหลอดไฟมีกี่แบบ? เคยไหมครับเวลาไปซื้อหลอดไฟมาแล้วดันใส่เข้าไปไม่ได้ เพราะคนละขั้ว? เชื่อว่าน่าจะมีหลายคนเคยประสบเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกครับ เพราะคนไม่รู้ก็ถือว่าไม่ผิด ดังนั้น บทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับขั้วหลอดไฟกัน เพื่อให้จากนี้ไปเวลาเปลี่ยนหลอดไฟ หรือตอนไปซื้อหลอดไฟ เราจะได้เข้าใจและเลือกซื้อใช้ถูกต้องไม่ต้องเสียเวลาไปเปลี่ยน ไม่ต้องเสียอารมณ์ ไม่ต้องเสียเวลา และสำหรับบางร้านอาจต้องบอกว่า จะได้ไม่ต้องเสียค่าความไม่รู้ เพราะบางร้าน ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนคืนซะด้วย!!
ขั้วหลอดไฟมีกี่แบบ?
ถ้าจะนับกันจริง ๆ ต้องบอกว่ามีเยอะเลยครับสำหรับประเภทของขั้วหลอดไฟ เพราะสำหรับหลอดแบบพิเศษที่ใช้กับงานเฉพาะทางอย่างหลอดไฟในเครื่องจักร ในเครื่องมือแพทย์ ก็จะเป็นคนละชนิดกับที่เราพบเห็นทั่วไป ซึ่งในส่วนตรงนี้ไม่ได้สลักสำคัญอะไร ดังนั้น เราจึงจะมาทำความรู้จักกับขั้วหลอดแบบที่คนธรรมดาเขาใช้กันดีกว่า โดยสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่คือ แบบเกลียว และแบบเขี้ยว
1. ขั้วหลอดไฟแบบเกลียว
ชื่อก็บอกครับว่าแบบเกลียว ดังนั้นลักษณะของขั้วหลอดแบบนี้ก็คือเป็นลักษณะเกลียว ๆ ที่เวลาเราซื้อหลอดไฟ ก็ต้องไปซื้อชนิดแบบที่เป็นเกลียวเหมือนกันเพื่อหมุนให้มันเข้ากันได้ เพราะถ้าเข้ากันไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่ไฟจะสว่างได้ครับ ทั้งนี้ ในตระกูลขั้วหลอดแบบเกลียวก็มีย่อยออกไปอีกหลายชนิดเช่นกัน โดยชนิดที่ใช้กันบ่อย ๆ ก็ได้แก่
• ขั้วหลอดไฟแบบเกลียว E14
ตัวนี้ในวงการช่างไฟเขาเรียกกันว่า “ขั้วเล็ก” ครับ แต่ก็ยังมีเล็กกว่านี้อีกตัวหนึ่งคือ E12 แต่ก็ไม่ได้นิยมใช้กันมาก ดังนั้นไม่ต้องไปสนใจครับ ไปโฟกัสที่ E14 ดีกว่า ซึ่งโดยมากที่นิยมใช้กันก็คือ ทรงจำปาหรือทรงกระบอก และแต่เดิมขั้วหลอดตัวนี้จะมีแต่หลอดไส้เท่านั้นที่เป็นคู่ แต่ปัจจุบันมี หลอด LED แล้ว จึงทำให้ใครที่บ้านใช้ไฟขั้วหลอดแบบนี้ แล้วอยากจะเปลี่ยนมาใช้หลอด LED ก็ไม่มีปัญหาครับ เดินไปที่ร้านแล้วบอกเขาเลยว่า เอา LED E14 เท่านั้นก็เรียบร้อย
• ขั้วหลอดไฟแบบเกลียว E27
นี่คือหนึ่งในขั้วหลอดที่ฮิตที่สุดในชีวิตประจำวัน แต่แรกเริ่มเดิมทีจะใช้กับหลอดแบบน้ำเต้า หรือ Incandescent และทรงปิงปองเท่านั้น แต่ต่อมาก็มีการพัฒนาให้ใช้ได้กับหลอดตะเกียบ หรือหลอดประหยัดไฟแบบแท่งได้ และปัจจุบันก็ล้ำไปไม่น้อยหน้าใคร คือมีหลอด LED BULB สำหรับขั้ว E27 นี้ด้วยเช่นกัน ลักษณะก็แบบทรงน้ำเต้าเป๊ะ เรียกได้ว่าสำหรับสายประหยัดไฟ LED นี่ไม่ต้องห่วงเลยครับว่าบ้านจะขั้วไหน เพราะปัจจุบันผู้ผลิตทำหลอดไฟออกมาซัพพอร์ตทุกรุ่นหมดแล้ว
• ขั้วหลอดไฟแบบเกลียว E40
ตัวนี้เหมือนกันเลยครับกับ E27 ต่างกันตรงที่มีขนาดใหญ่กว่า เพราะใช้กับหลอดที่มีกำลังวัตต์สูง ๆ ยกตัวอย่างโคมขั้วหลอดแบบนี้ก็เช่นพวก โคมฟลัดไลท์ สปอตไลท์ และโคมไฮเบย์ หรือเป็นโคมที่ไฟที่ใช้สำหรับงานที่ต้องการแสงสว่างมาก เช่น ในสนาม ในโกดัง ในอาคาร โรงงาน หรือห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้ไม่ต้องเสียใจนะครับว่าขั้วหลอดแบบนี้ จะไม่มีหลอด LED รองรับ เพราะปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น ฟลัดไลท์ สปอตไลท์ หรือไฮเบย์ ล้วนมีชนิดที่เป็น LED หมดแล้ว ซึ่งข้อดีก็คือคุณภาพดีขึ้น น้ำหนักเบาขึ้น ประหยัดไฟมากขึ้น ใช้งานได้ยาวนานขึ้น
2. ขั้วหลอดไฟแบบเขี้ยว
นอกจากแบบเกลียวแล้ว อีกประเภทหนึ่งของขั้วหลอดไฟที่พบเห็นได้ และมีใช้กันทั่วไปในชีวิตประจำวันก็คือขั้วหลอดแบบเขี้ยวครับ โดยลักษณะก็จะตามชื่ออีกเช่นเดิม คือจะแง่งเหมือนเขี้ยว เป็นล็อคที่ต้องใช้หลอดไฟแบบเขี้ยวมาเกี่ยวกันถึงจะทำงานได้ หรือลักษณะคล้ายเต้าถ่านไฟฉาย ต้องใช้หลอดไฟที่มีตุ่มเขี้ยวเท่านั้น จะใช้แบบเกลียวไม่ได้ โดยขั้วแบบเขี้ยวเองก็มีหลายแบบเช่นกัน แต่ที่พบบ่อย ๆ มีดังนี้
• ขั้วหลอดไฟแบบเขี้ยว G13
ง่าย ๆ คือขั้วหลอดนีออนครับ ก็ใช้กับหลอดไฟนีออน หรือหลอดฟลูออเรสเซนต์ จะขนาด 18w แบบสั้น หรือ 36w แบบยาวก็ได้ แต่ทั้งนี้สำหรับหลอดนีออนเดิมต้องทำงานคู่กับบัลลาสต์และสตาร์ทเตอร์ ถึงจะติดไฟได้ แต่ปัจจุบันมี LED TUBE หรือก็คือหลอดนีออนแบบ LED นั่นแหละ ซึ่งดีกว่าเดิมมากคือไม่จำเป็นต้องมีบัลลาสต์และสตาร์ทเตอร์ ก็ทำงานได้ เรียกว่าง่ายและสะดวกกว่า ที่สำคัญยังคงมีคุณสมบัติของ LED ไม่เปลี่ยน คือสว่างกว่า ประหยัดกว่า อายุการใช้งานนานกว่า
• ขั้วหลอดไฟแบบเขี้ยว GU10
มีอีกชื่อที่ใช้เรียกกันในวงช่างว่า “ขั้วขาสตาร์ทเตอร์” ลักษณะเป็นแบบมีขาบิดล็อคได้ จะพบใช้คู่กับหลอดฮาโลเจนแบบถ้วย ซึ่งไฟแบบนี้นิยมใช้กับโคมไฟติดรางที่ติดในลักษณะส่องลงพื้น ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการหลุดจากตัวโคม นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม่จึงต้องมีขาล็อกนั่นเอง และเช่นกันครับขั้วเขี้ยวแบบ GU10 เองก็มีหลอด LED ที่ใช้ได้ผลิตออกมาแล้วด้วยเหมือนกัน
• ขั้วหลอดไฟแบบเขี้ยว GU5.3
นิยมใช้กับหลอดฮาโลเจนแบบถ้วยและแบบแคปซูล ซึ่งลักษณะขั้วจะเป็นเหล็กแหลมสั้นๆ 2 แท่งที่ตัวขั้วหลอด ทั้งนี้ตัวเลข 5.3 นั้นหมายถึงระยะห่างของแท่งเหล็กทั้ง 2 แท่ง แต่อย่าเพิ่งตกใจว่าห่างเยอะขนาดนั้นเลยเหรอนะครับ เพราะหน่วยของความห่างนี้เป็นมิลลิเมตรครับ
จบกันไปแล้วกับชนิดของขั้วหลอดไฟ ที่ให้เราได้พอมีความรู้เอาไว้สำหรับการสังเกตและเลือกซื้อหลอดไฟให้เหมาะกับขั้วหลอดที่บ้านจะได้ไม่ต้องเสียเวลา ไปเปลี่ยน หรืออารมณ์เสียเวลาซื้อมาแล้วเจอกับเหตุการณ์ที่มันเข้ากันไม่ได้ ทั้งนี้ จากชนิดของขั้วหลอดทั้งหมดจะเห็นว่า มันมีค่อนข้างเยอะให้เลือกหลากหลายตามการใช้งานครับ ที่สำคัญอีกอย่างที่น่าสังเกตก็คือ แม้ขั้วหลอดจะมีเยอะแค่ไหน แต่หลอดไฟก็มีชนิดแบบ LED ผลิตออกมาใช้คู่กับขั้วหลอดทุกแบบได้หมด ซึ่งนั่นเป็นข้อพิสูจน์ที่ดีอย่างหนึ่งว่า LED คือหลอดไฟที่ดีที่ถูกสร้างมาเพื่อตอบโจทย์สำหรับทุกการใช้งานไฟฟ้า ที่จะให้เราได้แสงสว่างที่ดี มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งช่วยประหยัดค่าไฟและค่าซ่อมบำรุงจากอายุการใช้งานที่ยาวนานอีกด้วย แล้วแบบนี้ เรายังจะเมินไม่สนใจ ลองเปลี่ยนหันมาใช้หลอดไฟ LED บ้างเลยได้ลงคออีกหรือ?
• เลือกช้อปสินค้าแบรนด์ BEC ได้ที่หน้าร้าน และหน้าเว็บ คลิก
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สินค้าแนะนำ