เข้าใจความต่างของ “แผงโซลาร์เซลล์” แต่ละแบบก่อนเลือกซื้อ
เรารู้จักระบบการทำงานของโซลาร์เซลล์กันไปแล้ว ทีนี้เวลาจะเลือกมาติดตั้งใช้งาน ไม่ว่าจะตั้งใจซื้อมาเพื่อใช้งานเอง หรือเพื่อการลงทุนเพื่อส่งขายคืนให้กับการไฟฟ้า นอกจากระบบของโซลาร์เซลล์ที่เราต้องเลือกให้เหมาะสม เช็กลิสต์สำคัญที่เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนตัดสินใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็คือ “เราจะเลือกแผงโซลาร์เซลล์แบบไหนดี ถึงจะดีและคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป” ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์ ในท้องตลาดก็มีมากมายหลากหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีข้อเด่นข้อด้อยแตกต่างกันไป ทั้งนี้เราก็จำเป็นต้องรู้ไว้เพื่อการตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างเหมาะสม และเพื่อที่จะได้คุยกับช่างติดตั้งได้อย่างเข้าใจ
แผงโซลาร์เซลล์ คืออะไร ทำงานอย่างไร
“แผงโซลาร์เซลล์” (Solar Panel หรือ Photovoltaics) เป็นการนำเอาโซลาร์เซลล์หลาย ๆ เซลล์มาต่อวงจรรวมอยู่ในแผงเดียวกัน เพื่อให้ผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น การทำงานก็จะคล้ายกับถ่านไฟฉายที่เราใช้กันเลย โดยถ่านก้อนที่ใช้กันทั่วไปจะมีขั้วบวกขั้วลบ และมีกำลังไฟเรียกว่า “โวลต์” ซึ่งถ่านไฟฉายส่วนใหญ่มีกำลังไฟที่ 1.5 โวลต์ต่อก้อน เวลานำมาต่อกันสองก้อน ก็จะเป็น 1.5 + 1.5 โวลต์ เท่ากับ 3 โวลต์ แปลว่า ถ่านไฟฉายที่เราจะใช้งานนั้น ต้องการกำลังไฟ 3 โวลต์ จึงจะทำงานได้ สำหรับการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ ก็มีทั้งขั้วบวกขั้วลบเหมือนกัน พอเวลามันถูกแสงแดดสาดส่องลงมาก็จะผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาได้ เพียงแต่กำลังโวลต์ในแผงแต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันไปตามรุ่นหรือยี่ห้อของแต่ละผู้ผลิต
แผงโซลาร์เซลล์ ทำมาจากอะไร
แผงโซลาร์เซลล์แทบจะ 90% ทำมาจาก ซิลิคอน (Silicon) และ 95% ของแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้ตามบ้านเรือน ก็เป็นซิลิคอนที่อยู่ในรูปของผลึกซิลิคอน (Crystalline Silicon) ซึ่งเจ้าซิลิคอนนี้ยิ่งมีความบริสุทธิ์มากเท่าไหร่ โมเลกุลของมันก็จะสามารถจัดเรียงตัวได้ดีกว่า ส่งผลให้เปลี่ยนพลังงานแสงแดดเป็นพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า ทว่าการทำให้ซิลิคอนมีความบริสุทธิ์นั้นค่อนข้างใช้ทุนสูงและขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อน จึงทำให้เราต้องโฟกัสไปที่เรื่องต้นทุน ความคุ้มค่า และจุดคืนทุนมากกว่าเรื่องประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์นั่นเอง
แผงโซลาร์เซลล์มีกี่ชนิด
แผงโซลาร์เซลล์แบ่งออกเป็น 3 ชนิด แต่ละชนิดมีความแตกต่าง รวมถึงจุดเด่นและข้อควรพิจารณาที่แตกต่างกันไป ได้แก่
- แผงโซลาร์เซลล์ ชนิดโมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells)
- แผงโซลาร์เซลล์ ชนิดโพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells)
- แผงโซลาร์เซลล์ ชนิดฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells)
แผงโซลาร์เซลล์ ชนิดโมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells)
แผงโซลาร์เซลล์ชนิดนี้ทำมาจาก ผลึกซิลิคอนเชิงเดี่ยว ที่มีความบริสุทธิ์สูง สังเกตง่าย ๆ เลยคือเซลล์ของมันจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมตัดมุมทั้งสี่มุม และมีสีเข้มเด่นชัด ซึ่งกว่าจะมาเป็นแผงโซลาร์โมโนคริสตัลไลน์ ก็จะเริ่มมาจากแท่งซิลิคอนทรงกระบอกที่เกิดจาก “Czochralski Process” เป็นกระบวนการกวนให้ผลึกเกาะกันที่แกนกลาง เมื่อได้แล้วก็นำมาตัดให้เป็นสี่เหลี่ยม พร้อมกับลบมุมทั้งสี่ออกเพื่อที่จะทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และลดการใช้วัตถุดิบโมโนซิลิคอนลง ก่อนที่จะนำมาตัดเป็นแผ่นแบบที่เราเห็นกัน
- ข้อดีของแผงโซลาร์เซลล์โมโนคริสตัลไลน์
- ในบรรดาแผงโซลาร์ทุกชนิด แผงโซลาร์เซลล์โมโนคริสตัลไลน์มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะผลิตมาจากซิลิคอนเกรดดีที่สุด ทั้งนี้ควรตรวจเช็กค่าประสิทธิภาพแผงในแต่ละแบรนด์ด้วย
- แผงโซลาร์เซลล์โมโนคริสตัลไลน์มีประสิทธิภาพต่อพื้นที่สูงสุด เนื่องจากให้กำลังที่สูง
- เมื่ออยู่ในสภาวะแสงน้อย แผงโซลาร์เซลล์โมโนคริสตัลไลน์จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีกว่าชนิดอื่น
- แผงโซลาร์เซลล์โมโนคริสตัลไลน์มีอายุการใช้งานยาวนาน เฉลี่ยแล้วประมาณ 25 ปีขึ้นไป
- ข้อพิจารณาของแผงโซลาร์เซลล์โมโนคริสตัลไลน์
- เมื่อมีประสิทธิภาพดีสุด ก็แลกมากับราคาที่สูงกว่าชนิดอื่น เช่น แบบโพลีอาจจะแค่ 2 พันบาท แต่แบบโมโนอาจจะแพงถึง 6 พันบาท
- หากแผงโซลาร์เซลล์โมโนคริสตัลไลน์มีความสกปรก หรือถูกบังแสงในบางส่วนของแผง อาจทำให้วงจรหรืออุปกรณ์อินเวอร์เตอร์ไหม้เสียหายได้ เนื่องจากภาวะเกิดโวลต์สูงเกินไป
แผงโซลาร์เซลล์ ชนิดโพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells)
แผงโซลาร์เซลล์แบบโพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline) หรือ ชนิดผลึกซิลิคอนเชิงผสม บางครั้งก็ถูกเรียกว่า มัลติ-คริสตัลไลน์ (Multi-crystalline) ซึ่งแผงชนิดนี้เกิดจากการหลอมซิลิคอนหรือแก้วให้เหลว แล้วนำมาเทใส่แม่แบบรูปทรงสี่หลี่ยม เมื่อได้ที่แล้วก็นำแท่งแก้วสี่เหลี่ยมที่ได้มาตัดเป็นแผ่นบาง ๆ ทำให้เซลล์แต่ละเซลล์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและไม่มีการตัดขอบมุม ส่วนสีของแผงก็จะออกสีน้ำเงินฟ้า ไม่เข้มมากเหมือนกับชนิดโมโนคริสตัลไลน์
- ข้อดีของแผงโซลาร์เซลล์โพลีคริสตัลไลน์
- แผงโซลาร์เซลล์โพลีคริสตัลไลน์ใช้ปริมาณซิลิคอนในการผลิตน้อยกว่าชนิดโมโนคริสตัลไลน์ และมีขั้นตอนการผลิตที่ง่ายกว่า
- สำหรับพื้นที่หรือบริเวณติดตั้งที่มีอุณหภูมิสูง แผงชนิดนี้มีประสิทธิภาพการใช้งานดีกว่าชนิดโมโนคริสตัลไลน์เล็กน้อย
- แผงโซลาร์เซลล์ชนิดโพลีคริสตัลไลน์มีราคาถูกกว่าชนิดโมโนคริสตัลไลน์
- ข้อพิจารณาของแผงโซลาร์เซลล์โพลีคริสตัลไลน์
- แผงโซลาร์เซลล์โพลีคริสตัลไลน์มีประสิทธิภาพต่ำกว่าชนิดโมโนคริสตัลไลน์ และมีประสิทธิภาพต่อพื้นที่ต่ำกว่าชนิดโมโนคริสตัลไลน์
- แผงโซลาร์เซลล์โพลีคริสตัลไลน์มีสีอ่อนกว่าแผงชนิดอื่น และมีสีที่ดูไม่สม่ำเสมอเมื่อเทียบกับชนิดโมโนฯ ที่มีสีน้ำเงินเข้มโดดเด่น ทำให้การมองในบางครั้งอาจดูไม่สวยงามเท่าไรนัก
แผงโซลาร์เซลล์ ชนิดฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells)
แผงโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cell) หรือบางคนอาจเรียกว่า “แผงโซลาร์แบบโค้งงอ” จะแตกต่างจาก 2 ชนิดก่อนหน้า เพราะเป็นการนำสารที่สามารถแปลงพลังงานแสงแดดมาเป็นกระแสไฟฟ้า มาฉาบเป็นฟิล์มชั้นบางเฉียบซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น โดยสารที่นำมาฉาบก็มีด้วยกันหลายชนิด ทำให้ชื่อเรียกของแผงชนิดนี้แตกต่างกันไปตามชนิดของวัสดุที่นำมาใช้ เช่น Amorphous Silicon, Cadmium Telluride, Organic Photovoltaic Cells ฯลฯ ทั้งนี้แผงโซลาร์เซลล์อะมอร์ฟัส (Amorphous Silicon Solar) ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ เป็นเพียงหนึ่งในหลายชนิดของแบบฟิล์มบางเท่านั้น ดังนั้นอย่าหลงเข้าใจผิดกันล่ะ
ส่วนด้านประสิทธิภาพ แผงโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบางจะมีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุที่นำมาทำเป็นฟิล์มฉาบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าแผงโซลาร์เซลล์ 2 แบบแรก เนื่องด้วยโครงสร้างของตัวมันเอง เราจึงไม่ค่อยเห็นคนติดตั้งแผงชนิดนี้กับอาคารบ้านเรือนเท่าไรนัก แต่มักจะนำไปประยุกต์ใช้ตามบริเวณต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ติดตั้งบนรถ เรือ หรือพกพาไปใช้ในที่ห่างไกล เพราะน้ำหนักเบา สะดวกในการพกพา
- ข้อดีของแผงโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบาง
- แผงโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบางมีราคาถูกกว่า น้ำหนักเบา เพราะผลิตจำนวนมากได้ง่ายกว่าชนิดผลึกซิลิคอน
- สามารถใช้งานในบริเวณที่ร้อนจัดได้ค่อนข้างดี ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
- ไม่มีปัญหากวนใจ เช่น วงจรไหม้ เมื่อหน้าแผงเกิดความสกปรกบดบัง
- หากบริเวณพื้นที่ติดตั้งมีเนื้อที่เหลือเฟือ แผงชนิดนี้ก็เป็นทางเลือกที่ดี
- ข้อเสียของแผงโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบาง
- ให้ประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า ได้น้อยกว่าแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอื่น
- แม้จะมีราคาถูก แต่จะไปสิ้นเปลืองกับวัสดุในการติดตั้ง เช่น สายไฟ ข้อต่อ
- ไม่เหมาะนำมาใช้ตามหลังคาบ้าน เพราะหลังคาบ้านมีพื้นที่จำกัดเกินไป
- การอายุการรับประกันสั้นกว่าแผงโซลาร์เซลล์ชนิดผลึกซิลิคอน
ช้อปปิ้งสินค้า โซลาร์เซลล์ ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กับไทวัสดุ
สัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าเพื่อบ้านบนโลกออนไลน์ได้แล้ววันนี้กับ ไทวัสดุ ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย จำหน่ายโซลาร์เซลล์ อุปกรณ์โซลาร์เซลล์ ตอบโจทย์ทุกความต้องการ สั่งง่าย สะดวกรวดเร็ว เลือกรับสินค้าที่สาขาด้วยตนเอง หรือเลือกรับสินค้าที่บ้าน บริการจัดส่งทั่วประเทศ สั่งผ่านออนไลน์ได้ที่ thaiwatsadu.comหรือติดต่อผ่านช่องทาง Chat & Shop LINE @thaiwatsadu โทร. 1308