จบปัญหาสีที่กังวลใจด้วย "สีรองพื้นปูนใหม่-เก่า" ตัวช่วยทาสีบ้านให้สวยยิ่งขึ้น!
สีรองพื้นปูน (Primer) ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นสีที่เอาไว้ทาบนพื้นผิวต่าง ๆ ก่อนจะลงสีทับหน้า ว่าแต่ไม่ทาสีจริงไปเลยล่ะ ก็ต้องบอกเลยว่า การทาสีรองพื้นจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะระหว่างพื้นผิวและสีทับหน้า ทำให้สีจริงติดทน ไม่หลุดลอก มอบความสวยงามแก่พื้นผิวได้ยาวนานยิ่งขึ้น ไม่ต้องมาคอยทาสีใหม่ให้เปลืองเงินเล่น เห็นแบบนี้แล้วใครที่ยังสงสัยอยู่ว่า เราสามารถทาสีบ้านลงไปเลยได้หรือไม่ คำตอบก็คือ “ไม่ควรอย่างยิ่ง” ทั้งนี้สีรองพื้นปูนจะมีด้วยกันอยู่ 2 ชนิดคือ สีรองพื้นปูนใหม่ และสีรองพื้นปูนเก่า ทั้งสองชนิดเหมาะกับการนำไปใช้งานแตกต่างกัน แล้วเราควรเลือกแบบไหนดีถึงจะตอบโจทย์ผนังและพื้นปูนที่บ้าน วันนี้เรามีคำตอบมาฝาก!
รู้จักสีรองพื้นปูนใหม่
บ้านที่เพิ่งสร้างเสร็จ อาคารที่มีส่วนต่อเติมและฉาบปูนใหม่ ปูนที่เพิ่งฉาบใหม่แล้วรอให้แห้ง ไม่เคยผ่านการทาสีทับหน้ามาก่อน สีรองพื้นปูนใหม่จะตอบโจทย์กับงานเหล่านี้ เพราะชื่อก็บอกอยู่ว่าเป็น “สีรองพื้นสำหรับปูนใหม่” นั่นเอง ซึ่งถ้าเราไม่ทาสีรองพื้นก่อนทาสีจริง เวลาช่างฉาบปูนเสร็จใหม่ ๆ พื้นหรือผนังปูนที่เพิ่งฉาบจะคายความชื้นออกมา ทำให้เกิดรอยด่างบนพื้นผิว และส่งผลให้สีที่ทาไปเกิดปัญหาตามมา อย่างไรก็ตามเวลาจะไปซื้อสีรองพื้นปูนใหม่ เราควรพิจารณาคุณสมบัติหลักของมัน ดังนี้
- ต้องช่วยป้องกันการเกิดด่างจากปูนใหม่ : อย่างที่บอกไปว่าช่วงแรกหลังฉาบผนัง ปูนฉาบจะมีค่าความเป็นด่างสูงมาก การใช้สีรองพื้นปูนใหม่จะเหมือนเป็นการบล็อกความเป็นด่างไม่ให้โดนสีจริง ทำให้ผนังฉาบปูนและสีทับหน้ามีการยึดเกาะที่ดี แถมสีทับหน้ายังดูสวยสดใสอีกด้วย
- ช่วยลดการดูดซึมของพื้นผิว : ถ้าสังเกตผนังปูนจะมีรูพรุนอยู่มาก ถ้าเราลงสีจริงเลย รูพรุนบนพื้นผิวปูนก็จะดูดสีชนิดนั้นเข้าไปก่อน แปลว่าถ้าเราลงสีรองพื้นลงไปก่อน ก็เหมือนเป็นการลดการดูดซึม พอถึงขั้นตอนทาสีจริง ก็จะช่วยประหยัดสีได้มากขึ้น
- ทาสีทับหน้าได้ง่าย ช่วยการกลบพื้นผิวได้ดี : พื้นผิวปูนที่มักจะเป็นสีเทา หากเราลงสีจริงไปเลยมันจะติดค่อนข้างยาก อาจต้องใช้สีจริงจำนวนเยอะขึ้น และต้องเปลืองแรงมากยิ่งขึ้น แต่การใช้สีรองพื้นซึ่งมีเนื้อเป็นสีขาวมาลงรองพื้นก่อน ก็จะช่วยให้สีจะติดผนังได้ง่ายมากกว่าเดิม
ขั้นตอนการทาสีปูนใหม่ให้สวยงามไร้ที่ติ
- ทิ้งปูนให้แห้ง : ทิ้งอย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไป ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม หากทาสีลงบนปูนที่ไม่แห้งสนิท จะเจอปัญหาเรื่องความชื้น ทำให้สีไม่เกาะติดผนังหรือหลุดล่อนเร็วขึ้น
- ทำความสะอาดพื้นผิวปูน : โดยเฉพาะพวกฝุ่นผง เศษซีเมนต์ และคราบสกปรกที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งควรเลือกวิธีทำความสะอาดให้เหมาะกับสิ่งสกปรกแต่ละชนิด เช่น ถ้ามีเชื้อราหรือมีตะไคร่น้ำเกาะอยู่หลังจากที่เราทิ้งปูนไว้ ให้ขัดล้างทำความสะอาด ทาผลิตภัณฑ์เพื่อกำจัดเชื้อรา และปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง แต่ถ้ามีรอยแตกร้าว ให้ใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับอุดโป๊ว ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทก่อนจะลงสีรองพื้นปูนใหม่
- ทาสีรองพื้นปูนใหม่ : เป็นการเพิ่มการยึดเกาะและป้องกันการเกิดด่าง โดยทาสีรองพื้นลงไปบนพื้นผิวของปูน 1-2 รอบ จากนั้นทิ้งให้ตัวสีรองพื้นแห้งประมาณ 2-4 ชั่วโมง แล้วค่อยลงสีทาทับหน้า
- ทาสีทับหน้า : สำหรับปูนฉาบใหม่ หรือบ้านที่สร้างใหม่ เราแนะนำว่าถ้าใช้สีรองพื้นปูนใหม่รุ่นไหน ก็ให้ใช้สีทับหน้ารุ่นเดียวกัน เช่น ทีโอเอ ชิลด์ วัน สีรองพื้นปูนใหม่กันด่าง ให้เลือกสีทาทับหน้ารุ่น ทีโอเอ ชิลด์ วัน เป็นต้น
รู้จักสีรองพื้นปูนเก่า
ผนังปูนเก่าที่ต้องการทาสีทับ หรือพื้นผิวปูนเก่าที่ฉาบไว้นานแล้ว ส่วนมากจะมีคราบสกปรกเกาะอยู่บนพื้นผิว ดังนั้นจึงต้องเลือกใช้สีรองพื้นปูนเก่าสำหรับพื้นผิวเหล่านี้โดยเฉพาะ โดยสีรองพื้นปูนเก่าจะเข้าไปเคลือบทับรอยที่ผังอยู่บนผิวปูนเก่า
ช่วยให้การทาสีใหม่นั้นง่ายยิ่งขึ้น เพื่มการยึดเกาะ และไม่หลุดร่อนง่าย อย่างไรการเลือกซื้อสีรองพื้นปูนเก่า ก็มีคุณสมบัติที่ต้องพิจารณาไม่ต่างจากสีรองพื้นปูนใหม่ ซึ่งเราสรุปมาแบบเข้าใจง่าย ๆ ตามนี้เลย
- ช่วยเพิ่มการยึดเกาะ : สีรองพื้นปูนเก่าจะทำหน้าที่คล้ายกาว คือเมื่อทาลงไปแล้วนอกจากจะช่วยปรับพื้นผิวให้เรียบเนียนขึ้น ยังช่วยเพิ่มการยึดเกาะระหว่างพื้นผิวกับสีจริงอีกด้วย
- ช่วยให้สีทับหน้าสวยยาวนาน : เมื่อมีการยึดเกาะที่ดี และมีพื้นผิวที่เรียบมากขึ้น ก็จะช่วยให้สีจริงติดทนนานมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาสีหลุดล่อน สีพอง หรือซีดจางได้เป็นอย่างดี
- จบปัญหาคราบสกปรก : ผนังปูนจะเกิดความชื้นเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งยังต้องเจอสภาวะอากาศต่าง ๆ ดังนั้นสีรองพื้นปูนเก่าจะต้องมีคุณสมบัติช่วยป้องกันคราบสกปรกอย่างคราบเชื้อรา และคราบด่างเกลือ เพื่อคงความสวยงามทนทานให้กับพื้นผิว
ขั้นตอนการทาสีปูนเก่าให้ได้ประสิทธิภาพ
- ขัดล้างสีที่เสื่อมสภาพออกให้ได้มากที่สุด : ใช้เกรียงแซะสีผนังบ้านเก่าออกก่อน หรือจะใช้เครื่องช่วยขัดหรือกระดาษทรายในขัดล้างชั้นฟิล์มเก่าก็ได้ เวลาทาสีทับหน้าจะได้ยึดเกาะได้ดี
- ทำความสะอาดให้เนี้ยบ : หลังขัดสีที่เสื่อมสภาพออกแล้ว ให้ตรวจเช็กว่าพื้นผิวมีคราบฝุ่นผง หรือรอยแตกร้าวหรือไม่ ถ้ามีคราบฝุ่นผงให้ฉีดน้ำขัดล้างให้หมด หากมีเชื้อรา หรือมีตะไคร่น้ำ ให้ทำความสะอาด และทาผลิตภัณฑ์เพื่อกำจัดเชื้อรา เช่น TOA 113 ไมโครคิลล์ และปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง หากมีรอยแตกร้าว ให้อุดโป๊วหรือใช้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปสำหรับอุดโป๊ว เช่น ทีโอเอ อะคริลิก ฟิลเลอร์ ทิ้งให้แห้งก่อนจะลงสีรองพื้นปูนเก่า
- ทาสีรองพื้นปูนเก่า : เป็นการเพิ่มการยึดเกาะและป้องกันการเกิดด่าง โดยทาสีรองพื้นลงไปบนพื้นผิวของปูน 1-2 รอบ จากนั้นทิ้งให้ตัวสีรองพื้นแห้งประมาณ 2-4 ชั่วโมง แล้วค่อยลงสีทาทับหน้า
- เริ่มทาสีผนังเก่าได้ : ทาสีด้วยลูกกลิ้งหรือแปรง และทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วเริ่มทารอบที่ 2 ใช้แปรงหรือลูกกลิ้งทาสีตามความต้องการ แล้วทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ 3-6 ชั่วโมง เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่สำคัญควรป้องกันไม่ให้พื้นผิวโดนน้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
เห็นภาพรวมของสีรองพื้นปูนใหม่ และสีรองพื้นปูนเก่ากันไปแล้ว หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณตัดสินเลือกซื้อสีรองพื้นปูนได้อย่างเหมาะสม และตอบโจทย์พื้นผิวที่คุณกำลังกังวล ซึ่งเราขอฝากเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้สักหน่อย คือสีรองพื้นปูนที่เราเห็นว่าเป็นสีขาว หลายคนอาจจคิดว่า งั้นเราทาแค่สีรองพื้นจะได้มั้ยนะ บอกเลยว่าไม่ควรอย่างยิ่ง! เพราะสีรองพื้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เผชิญสภาวะอากาศโดยตรง และไม่ได้กลบมิดได้ดีเท่าสีทับหน้า ดังนั้นการทาเฉพาะรองพื้นแต่ไม่ทาสีทับหน้า ก็มีโอกาสสูงมากที่จะทำให้เกิดปัญหาสีตามมานั่นเอง
ช้อปปิ้งสินค้า สีรองพื้นปูน ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กับ ไทวัสดุ
สัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าเพื่อบ้านบนโลกออนไลน์ได้แล้ววันนี้กับ ไทวัสดุ ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย จำหน่าย สีรองพื้นปูนใหม่ สีรองพื้นปูนเก่า สีทาบ้าน อุปกรณ์ทาสี ที่ตอบโจทย์ความต้องการหลากหลายจากแบรนด์ชั้นนำ สั่งง่าย สะดวกรวดเร็ว เลือกรับสินค้าที่สาขาด้วยตนเอง หรือเลือกรับสินค้าที่บ้าน บริการจัดส่งทั่วประเทศ สั่งผ่านออนไลน์ได้ที่ thaiwatsadu.com หรือติดต่อผ่านช่องทาง Chat & Shop LINE @thaiwatsadu โทร. 1308