รู้จักระบบพ่นสีฝุ่น 'Powder Coating' สำคัญอย่างไรในงานผลิตสารพัดชิ้นงาน
ก่อนรู้จักระบบพ่นสีฝุ่น ก็ต้องรู้จัก “สีฝุ่น” กันก่อน โดยสีฝุ่น หรือ สีผง (Powder Coat) คือสีที่มีลักษณะเนื้อสีเป็นฝุ่นผงคล้ายแป้ง เป็นผงสีที่มีคุณภาพสูง ใช้เทคโนโลยีการหลอมละลายเพียงครั้งเดียว (Thermosetting) ซึ่งสีฝุ่นมีคุณสมบัติเฉพาะตัว เช่น ทนแสงแดด ทนต่อการกระแทก การขูดขีด ป้องกันด่าง และทนต่อสภาพอากาศต่าง ๆ ได้ดี โดยสีฝุ่นสามารถใช้กับงานได้หลายประเภท ดังนี้
- ใช้ผสมเนื้อปูน เพื่อให้เกิดสีสันที่สวยงามและอยู่คงทนถาวรบนพื้นผิว เช่น งานพื้นปูนขัดมัน พื้นหินขัด บล็อกตัวหนอน โอ่งน้ำ เครื่องปั้นดินเผา
- งานอุตสาหกรรม เช่น พ่นลงบนเหล็ก โลหะ อะลูมิเนียม เพื่อเน้นความหลากหลายเฉดสีและความเงา สีฝุ่นจะให้ความคงทน เกาะติดแน่นไม่หลุดออก
- งานโครงสร้างภายนอก เพื่อเน้นความแข็งแรงทนทานต่อสภาพแวดล้อม
เห็นแล้วว่าสีฝุ่นเอาไปใช้กับงานได้หลากหลายมาก ซึ่งถ้านำไปใช้ผสมปูนทั่วไป ก็สามารถทำตามขั้นตอน หรือข้อแนะนำตามคู่มือการใช้งานได้ง่าย ๆ เลย แต่ถ้าเป็นงานพ่นสีแล้วละก็ ถือว่าเป็นงานที่แอดวานซ์ขึ้นมามากเลยทีเดียว เพราะจะต้องเข้าสู่ระบบการพ่นสีฝุ่น (Powder Coating) ซึ่งเป็นกระบวนการพ่นเพื่อเคลือบสีลงบนวัสดุในงานอุตสาหกรรม ใช้ได้ทั้งพื้นผิวโลหะ พลาสติก ไม้ และวัสดุอื่น ๆ โดยการพ่นสีฝุ่นจะช่วยป้องกันการสนิม การหลุดลอก และให้ความคงทนสวยงามมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ขั้นตอนการพ่นสีฝุ่น
การพ่นสีฝุ่นมีขั้นตอนการทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะจะต้องใช้เครื่องพ่นสีฝุ่นที่มีแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะ รวมถึงต้องมีถังพ่นสีฝุ่นที่สามารถปรับแรงดันได้ และเมื่อนำพ่นสีฝุ่นมาพ่นลงบนวัสดุโดยใช้แหล่งจ่ายลมอัด ก็จะทำให้สีฝุ่นเกาะติดกับพื้นผิวของวัสดุ เสร็จแล้วจะต้องนำวัสดุไปเข้าเตาอบที่ปรับความร้อนได้ เพื่อให้สีฝุ่นเปลี่ยนเป็นสีตามที่ต้องการ หากยังไม่เห็นภาพ เราขอสรุปขั้นตอนการพ่นสีฝุ่นให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
ขั้นตอน 1 : เตรียมพื้นผิว
- ใช้น้ำยาขจัดคราบไขมันทำความสะอาดวัสดุที่จะพ่นสี
- สำหรับวัสดุเหล็ก ให้เตรียมผิวด้วยซิงค์ฟอสเฟต
- ส่วนวัสดุสนิมหรืออะลูมิเนียม ให้ชุบเคลือบผิวโครเมตอะลูมิเนียม
- ล้างด้วยน้ำเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งก่อนล้างน้ำสุดท้ายควรตรวจสอบน้ำให้อยู่อุณหภูมิปกติ โดยค่าที่วัดควรที่จะต้องได้ต่ำกว่า 30 uS/cm. เพื่อควบคุมไม่ให้ไอออนเจือปน
ขั้นตอน 2 : การพ่นสี
- เมื่อเตรียมผิวเสร็จแล้ว จะนำชิ้นงานมาแขวนติดขั้วไฟฟ้า
- ทำการพ่นสีด้วยเครื่องพ่นสีไฟฟ้าขั้ว +/-
- สีฝุ่นจะไปเกาะบนผิวของชิ้นงาน ส่วนสีผงที่มีร่วงหล่นตามพื้น ผู้ปฏิบัติงานสามารถดูดกลับไปใช้ใหม่ได้อีกครั้ง
ขั้นตอน 3 : นำไปอบด้วยความร้อน
- ขณะย้ายชิ้นงานต้องระมัดระวังไม่ให้อะไรไปโดนชิ้นงาน เพราะสีฝุ่นที่พ่นไปจะหลุดออกชิ้นงาน
- อุณหภูมิที่ใช้คือ 180 - 200 องศาเซลเซียส เพื่อให้สีละลายเคลือบติดกับชิ้นงาน
- โดยทั่วไปจะใช้เวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 10 - 20 นาที ขึ้นอยู่กับชิ้นงานและประเภทของเตาอบ
แม้การพ่นสีฝุ่นจะมีการทำงานที่ค่อนข้างละเอียด แต่ก็ช่วยให้ผลิตชิ้นงานได้มากกว่าการเคลือบสีแบบอื่น แถมยังให้สีที่สวยงามและสม่ำเสมออีกด้วย ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานต้องพิจารณาเครื่องพ่นสีฝุ่นที่ได้คุณภาพและมีความทนทานสูง เพื่อความทนทานและประสิทธิภาพในการใช้งานนั่นเอง
ช้อปปิ้งสินค้า สีฝุ่น ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กับ ไทวัสดุ
สัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าเพื่อบ้านบนโลกออนไลน์ได้แล้ววันนี้กับ ไทวัสดุ ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย จำหน่ายสีฝุ่น และสีอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการ สั่งง่าย สะดวกรวดเร็ว เลือกรับสินค้าที่สาขาด้วยตนเอง หรือเลือกรับสินค้าที่บ้าน บริการจัดส่งทั่วประเทศ สั่งผ่านออนไลน์ได้ที่ thaiwatsadu.com หรือติดต่อผ่านช่องทาง Chat & Shop LINE @thaiwatsadu โทร. 1308