ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย ครบเรื่องบ้าน ถูกและดี
logo_mobile
search
เลือกสาขา
หน้าแรก
บทความ
ก่อนติดตั้ง "โซลาร์เซลล์" ต้องรู้อะไรบ้าง !

ก่อนติดตั้ง "โซลาร์เซลล์" ต้องรู้อะไรบ้าง !


เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อน จึงส่งผลให้มีสภาพอากาศร้อนและอบอ้าวเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งอากาศร้อนเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เราเปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมเพื่อดับร้อนเป็นเวลานานมากขึ้นเท่านั้นจนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราเปิดก็ทำงานหนักขึ้นตามไปด้วย ทำให้ค่าไฟในแต่ละเดือนพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและคงไม่ดีแน่หากต้องมาเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเช่นนี้ทุก ๆ เดือน 

เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย ทำให้หลาย ๆ บ้าน จึงเริ่มหันมาสนใจในการติดโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น เพราะลงทุนเพียงครั้งเดียวแต่อาจได้ผลตอบรับที่ดีกลับมาอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟลดลง เพราะเป็นการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้งาน หรือสามารถ ขายไฟคืน ให้กับหน่วยงานการไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นการคืนทุนในการติดตั้งหรือเพิ่มรายได้อีกช่องทาง เห็นไหมครับว่าคุ้มค่ามากแค่ไหน แต่ก่อนที่คุณจะตัดสินใจติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์นั้น คุณควรทราบถึงข้อควรคำนึง ที่ ไทวัสดุ นำมาฝากกันในวันนี้  

ข้อควรคำนึงก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์มีอะไรบ้าง  

1. การคำนวณการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเบื้องต้น 

ในการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์การคำนวณพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของคุณเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพื่อช่วยให้คุณทราบผลรวมของกำลังวัตต์ทั้งหมดและนำไปเลือกอุปกรณ์ในการติดตั้งได้อย่างเหมาะสม เช่น แบตเตอรี่ แผงโซลาร์เซลล์ หรืออินเวอร์เตอร์ รวมถึงการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างราบรื่น  


ยกตัวอย่างการคำนวณ  

  • หลอดไฟจำนวน 5 หลอด หลอดละ 10 วัตต์ (W) เปิดวันละ 5 ชั่วโมง/วัน = 10 W x 5 (จำนวนหลอดไฟ) x 5 (ชั่วโมง) รวมทั้งหมด 250 วัตต์ (W) 
  • หม้อหุงข้าว 1 อัน 500 วัตต์ (W) ใช้งาน 2 ชั่วโมง = 500 W x 1 (จำนวนเครื่องหม้อหุงข้าว) x 2 (ชั่วโมง) รวมทั้งหมด 1,000 วัตต์ (W) 
  • พัดลม 1 ตัว 100 วัตต์ (W) เปิดวันละ 8 ชั่วโมง = 100 W x 1 (จำนวนพัดลม) x 8 (ชั่วโมง) รวมทั้งหมด 800 วัตต์ (W) 

จากนั้นเอาผลรวมของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ชนิดมารวมกัน 250 + 1,000 + 800  =  2,050 วัตต์ (W)  

2. การเลือกอุปกรณ์ติดตั้งให้ครบครัน  

การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ไม่มีแค่แผงโซลาร์เซลล์เท่านั้น ยังมีอุปกรณ์อีกมากมายที่ใช้ร่วมกัน เพื่อเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าก่อนจะนำมาใช้ ซึ่งอุปกรณ์พื้นฐานของโซลาร์เซลล์ มีดังนี้ 

  • แผงโซลาร์เซลล์ : เป็นสื่อกลางในการรับแสงแดดจากพระอาทิตย์เพื่อนำมาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า สำหรับไทวัสดุนั้นมีจัดจำหน่าย 150 , 180 , 380 , 450 วัตต์ด้วยกัน โดยการเลือกแผงโซลาร์เซลล์นั้นควรเลือกที่กำลังวัตต์ให้เข้ากับจำนวนผลรวมวัตต์ของเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อให้คุณเข้าใจมากขึ้นเราจะขอนำผลรวมจากข้างต้นมายกตัวอย่าง  
    • นำผลรวมของค่าการใช้พลังงานไฟฟ้า 2,050 ÷ 5 (เป็นชั่วโมงของปริมาณแสงแดดที่น่าจะได้ใน 1 วัน ) = 410 W  

ดังนั้น แผงโซลาร์เซลล์ที่คุณลือกใช้ ควรมีกำลัง 410 W ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีผู้ผลิตที่จะผลิตแผงโซลาร์เซลล์ให้ครอบคลุมตามตัวเลขของแต่ละบ้านที่คุณคำนวณได้ สำหรับกรณีนี้ คุณอาจต้องขยับไปใช้แผงโซลลาร์เซลล์ที่มีกำลัง 450 หรือ 550 W 1 แผ่น หรือ 180 W 3 แผ่น ซึ่งอยู่ในกำลังวัตต์ที่พอดีไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป 

  • แบตเตอรี่ : เป็นอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บพลังงานไฟฟ้ากระแสตรงที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งใช้กับโซลาร์เซลล์ระบบ Off Grid เท่านั้นโดยการเลือกแบตเตอรี่ที่เหมาะสมควรนำตัวเลขผลรวมของเครื่องใช้ไฟฟ้ามาคำนวณ เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณมากขึ้น ไทวัสดุ ขอนำผลรวมข้างต้นมายกตัวอย่าง  
    • ผลรวมเครื่องใช้ไฟฟ้า 2,050 วัตต์ ÷ (แรงดันไฟฟ้าแบตเตอรี่ 12 โวลต์ x 0.6 เปอร์เซ็นต์การใช้งานกระแสไฟฟ้าที่อยู่ในแบตเตอรี่ x 0.85 ประสิทธิภาพของอินเวอร์เตอร์) = 334.9 แอมป์ (Ah)  

แบตเตอรี่คุณควรเลือกก็คือ 12 โวลต์ (V) 334.9 แอมป์ (Ah) ซึ่งไม่มีขายอย่างแน่นอนเพราะผลการคำนวณของแต่บ้านนั้นย่อมแตกต่างกัน ในกรณีนี้ คุณควรเลือกแบตเตอรี่ 12 โวลต์ (V) 120 แอมป์ (Ah) 3 ลูก หรือ 12 โวลต์ (V) 200 แอมป์ 2 ลูก 

  • โซลาร์ชาร์จ คอนโทรลเลอร์ (Solar Charge Controller) : เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กับโซลาร์เซลล์ระบบ Off Grid มีคุณสมบัติคอยควบคุมความถี่ของคลื่นไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ลงสู่แบตเตอรี่และควบคุมการจ่ายไฟ โดยวิธีการเลือกโซลาร์ชาร์จ คอนโทรลเลอร์ที่ง่ายที่สุดคือ การตรวจสอบค่า Imp หลังแผงโซลาร์เซลล์ที่คุณเลือก ยกตัวอย่าง ค่า Imp แผงโซลาร์เซลล์ 14 A ก็ให้เลือก โซลาร์ชาร์จ ที่มากกว่า 14 A เช่น 20 A หรือ 30 A หากใครที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์มากกว่า 1 แผง ก็ให้นำค่า Imp ด้านหลังมาบวกกัน เช่น แผงโซลาร์เซลล์ 180 W 3 แผง แผงละ 9 A = 9 + 9 + 9 ก็จะได้ 27 ซึ่งควรใช้โซลาร์ชาร์จ 40 A  
  • อินเวอร์เตอร์ (Inverter) : คือเครื่องแปลงไฟจากโซลาร์เซลล์ที่จำเป็นต้องมีในระบบโซลาร์เซลล์แบบ Off Grid และ ระบบ On Grid มีหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสตรง (Dc) จากโซลาร์เซลล์เป็นกระแสไฟฟ้าสลับ (Ac) เพื่อส่งต่อไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านหรืออาคาร โดยการเลือกอินเวอร์เตอร์ให้นำกำลังวัตต์รวมของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละเครื่องมารวมกัน

ยกตัวอย่าง  

  • หลอดไฟ 5 หลอด หลอดละ 10 วัตต์ = 5 x 10 ก็จะได้ 50 วัตต์ 
  • หม้อหุงข้าว 1 อัน 500 วัตต์ = 1 x 500 ก็จะได้ 500 วัตต์
  • พัดลม 1 ตัว ตัวละ 100 วัตต์ = 1 x 100 ก็จะได้ 100 วัตต์

จากนั้นนำมาบวกรวมทั้งหมด 50 + 500 +100 = 650 วัตต์ ดังนั้น ขนาดของเครื่องอินเวอร์เตอร์ที่คุณควรเลือกใช้ควรมีขนาด 1000 วัตต์ 

  • สายไฟโซลาร์เซลล์ : ใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อส่งกระแสไฟฟ้าให้ไหลผ่านไปยังอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ดี ซึ่งควรเลือกสายที่มีคุณสมบัติทนความร้อนสูงกว่า 80 องศาขึ้นไป เพื่อป้องกันสายไฟไหม้ โดยสายไฟฟ้ามีทั้งหมด 2 รูปแบบ  
    • สายไฟ DC คือ สายไฟฟ้าสำหรับกระแสตรง ใช้เชื่อมกับแผงโซลาร์เซลล์ให้เข้ากับอินเวอร์เตอร์ และเชื่อมอินเวอร์เตอร์ให้เข้ากับแบตเตอรี่ อีกทั้งสายไฟ DC ยังแบ่งออกเป็น 2 สี คือ สีแดงที่เป็นสายขั้วบวก และสีดำ ที่เป็นสายขั้วลบ ซึ่งควรเชื่อมขั้วให้ถูก
    • สายไฟ AC คือ สายไฟฟ้าสำหรับกระแสสลับ ใช้เชื่อมกับอินเวอร์เตอร์ให้เข้ากับเบรกเกอร์ AC และเชื่อมไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน 
  • เบรกเกอร์ : เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีเมื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ระบบ Off Grid และ ระบบ On Grid เพื่อช่วยตัดกระแสไฟฟ้าเมื่อไฟฟ้าลัดวงจรหรือไฟรั่วจากฟ้าผ่า ไฟกระชาก กระแสไฟฟ้าเกิน เป็นต้น ป้องกันไม่ให้เกิดการถูกดูด หรือไฟไหม้ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับสายไฟตามจุดที่นำส่งกระแสไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยควรติดตั้งทั้งเบรกเกอร์กระแสไฟฟ้าตรง (Ac) และเบรกเกอร์กระแสไฟฟ้าสลับ (Dc) สามารถสังเกตได้จากตัวอักษรบนบรรจุภัณฑ์หน้าเบรกเกอร์ และเลือกเบรกเกอร์จำนวนแอมป์ให้น้อยกว่าสายไฟ เพราะเมื่อไหร่ที่มีกระแสไฟฟ้าเกิน เบรกเกอร์จะทำการตัดไฟทันที
  • มิเตอร์ (Meters) : เป็นอุปกรณ์อ่านค่าพลังงานไฟฟ้า ที่ช่วยตรวจสอบกระแสไฟฟ้าและกำลังไฟฟ้าที่เหลือใช้หรือผลิตเกิน เพื่อป้องกันไฟย้อนกลับเข้าสู่สายส่งการไฟฟ้า อีกทั้งยังช่วยส่งสัญญาณเตือนไปยังอินเวอร์เตอร์เพื่อลดกำลังการผลิตก่อนที่ค่ากระแสไฟจะคงที่ 

หากคุณต้องการเลือกอุปกรณ์ให้ครบถ้วนและหมาะสมกำลังเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านหรือพื้นที่คุณต้องการติดตั้ง ควรขอแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม เพื่อประเมินเครื่องใช้ไฟฟ้า การใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงออกแบบผังในการติดตั้ง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระแสไฟฟ้า จึงอาจส่งผลอันตรายได้ถ้ามีคำนวณผิดพลาด 

3. การขออนุญาตจากหน่วยงาน 

สำหรับการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์แบบ Off Grid ไม่จำเป็นต้องติดต่อหรือขออนุญาตจากหน่วยงานการไฟฟ้า เพราะส่วนใหญ่มักใช้ไฟฟ้าที่ถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี่ แต่สำหรับระบบโซลาร์เซลล์แบบ On Grid จำเป็นที่ต้องทำการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 


  • หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล ในเขตพื้นที่ เพื่อดัดแปลงอาคาร รื้อถอนอาคาร ดัดแปลงโครงสร้างบนหลังคาก่อนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์  
  • สำนักงานคณะการกำกับกิจการพลังงาน โดยแนบเอกสารที่ทางการกำหนดยื่นผ่านเว็บไซต์ เพื่อแจ้งประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง ควรลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการขายไฟคืนหรือขอขนานไฟผ่านทางเว็บไซต์และแนบเอกสารที่หน่วยงานกำหนดเช่นเดียวกัน 

เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นคุณจะต้องไปชำระค่าบริการต่าง ๆ และทำสัญญาเกี่ยวกับการซื้อ-ขายไฟ จากนั้นการไฟฟ้าจะขอเข้าไปตรวจสอบความเรียบร้อยภายในและทำการเปลี่ยนประเภทมิเตอร์ไฟเป็นมิเตอร์สำหรับคำนวณโซลาร์เซลล์รวมถึงเชื่อมต่อกับระบบ COD ที่เป็นระบบเกี่ยวกับการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์เพื่อเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านั่นเอง 

4. ตรวจสอบสภาพของหลังคา   

ส่วนใหญ่แล้วแผงโซลาร์เซลล์มักติดตั้งได้แทบทุกวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นหลังคาไม้ กระเบื้อง ซีเมนต์ โลหะ จึงไม่จำเป็นต้องกังวลใด ๆ แต่สิ่งที่ควรคำนึงมากกว่านั้นคือสภาพหรืออายุการใช้งานของหลังคาเพราะอุปกรณ์ในการติดตั้งรวมถึงแผงโซลาร์เซลล์ค่อนข้างมีน้ำหนักระดับหนึ่ง หากหลังคาของคุณมีการชำรุดหรือเสียหายอยู่แต่เดิม ก็อาจทำให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้ลำบากหรือระหว่างใช้งานมีการหลุดร่อน ผุพังซึ่งทำให้คุณต้องเสียค่าซ่อมแซมทั้งหลังคาและโซลาร์เซลล์ใหม่ก็เป็นได้ 

5. ทิศทางการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 

หากคุณคิดจะติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อดึงพลังงานจากแสงอาทิตย์นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด คุณควรคำนึงถึงทิศทางการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ร่วมด้วย โดยปกติแล้วประเทศไทยดวงอาทิตย์จะขึ้นไปทางทิศตะวันออกและอ้อมไปทางทิศใต้ก่อนพระอาทิตย์จะตกทางทิศตะวันตกตามเส้นสีแดง ดังภาพ ดังนั้น คุณควรติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์หันไปทิศใต้จะเป็นผลดีที่สุดเพราะจะทำให้ตัวแผงรับแสงแดดได้ดีตลอดทั้งวัน  


แต่หากเกิดปัญหาติดขัดอย่างมีต้นไม้ใหญ่หรือร่มเงาจากตึกต่าง ๆ บดบังแสงแดด แนะนำให้ติดตั้งทิศตะวันออก (ได้รับแสงแดดในช่วงเช้า) หรือทิศตะวันตก (ได้รับแสงแดดในช่วงบ่าย) เพราะยังคงเป็นทิศที่พระอาทิตย์เดินทางก่อนจะลับขอบฟ้า และเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการติดตั้งทางทิศเหนือ เพราะอาจทำให้ได้รับแสงแดดน้อยไม่คุ้มค่าการติดตั้ง 

ช้อปปิ้งสินค้า อุปกรณ์โซลาร์เซลล์ ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กับไทวัสดุ 

สัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าเพื่อบ้านบนโลกออนไลน์ได้แล้ววันนี้กับ ไทวัสดุ ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย จำหน่าย แผงโซลาร์เซลล์ อุปกรณ์โซลาร์เซลล์ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็น สายไฟ แบตเตอรี่ อินเวอร์เตอร์ ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการ สั่งง่าย สะดวกรวดเร็ว และสามารถเลือกรับสินค้าที่สาขาด้วยตนเอง หรือเลือกรับสินค้าที่บ้าน บริการจัดส่งทั่วประเทศ สั่งผ่านออนไลน์ได้ที่ thaiwatsadu.com หรือติดต่อผ่านช่องทาง Chat & Shop LINE @thaiwatsadu โทร. 1308