เลือกซื้อน้ำมันเครื่องอย่างไร ให้เหมาะกับรถคันโปรด
น้ำมันเครื่อง คือสารหล่อลื่นที่ช่วยลดการเสียดสี และการสึกหรอของโลหะภายในเครื่องยนต์ เปรียบเสมือนหัวใจของรถยนต์เลยก็ว่าได้ ลองนึกภาพตามดูว่า ขณะที่เครื่องยนต์ของเรามีการเคลื่อนไหว แน่นอนว่าชิ้นส่วนต่าง ๆ ย่อมมีการเสียดสีเป็นธรรมดา ซึ่งน้ำมันเครื่องจะคอยทำหน้าที่เป็นฟิล์มไปเคลือบ และคั่นกลางชิ้นส่วนโลหะต่าง ๆ ที่อยู่ภายใน เพื่อช่วยลดการเสียดสี รวมถึงลดการสึกหรอของวัตถุนั่นเอง ประโยชน์ของน้ำมันเครื่องยังไม่หมดแค่นั้น เพราะน้ำมันเครื่องยังช่วยป้องกันสนิม และการกัดกร่อนของชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ช่วยระบายความร้อนเครื่องยนต์ รวมถึงช่วยรักษาความสะอาดภายในเครื่องยนต์อีกด้วย โดยน้ำมันเครื่องที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดก็มีหลายประเภท การเลือกใช้งานให้เหมาะสมจะช่วยให้รถคู่ใจของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประเภทของน้ำมันเครื่องที่คุณควรรู้จัก
- น้ำมันเครื่องธรรมดา (Synthetic) หรือเรียกอีกชื่อว่า “น้ำมันเครื่องปิโตรเลียม” เพราะผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นที่กลั่นจากน้ำมันปิโตรเลียม มีราคาถูกสุด และมีอายุการใช้งานสั้นที่สุด สามารถใช้งานได้ประมาณ 3,000-5,000 กิโลเมตร
- น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi Synthetic) เป็นน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้น้ำมันธรรมชาติเป็นฐาน แล้วเติมสารสังเคราะห์เพิ่มเพื่อให้มีคุณสมบัติสูงขึ้น พูดง่าย ๆ ว่าการผสมกันระหว่างน้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้กับน้ำมันจากธรรมชาตินั่นเอง สามารถใช้งานได้ประมาณ 7,000 กิโลเมตร ส่วนราคาก็จะอยู่ในระดับปานกลาง ไม่แพงมากจนเกินไป
- น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (Fully Synthetic) หรือเรียกอีกชื่อว่า “น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้” เนื่องจากผลิตมาจากน้ำมันหล่อลื่นที่สังเคราะห์มาจากน้ำมันปิโตรเลียม ถือว่าเป็นเกรดน้ำมันเครื่องที่พิเศษที่สุด ทำให้มีสิ่งแปลกปลอมเจือปนน้อยมาก และมีราคาแพงกว่าน้ำมันเครื่องประเภทอื่น สามารถใช้งานได้ประมาณ 10,000-15,000 กิโลเมตร
เบนซิน VS ดีเซล
รู้จักน้ำมันเครื่องประเภทต่าง ๆ กันไปแล้ว ทีนี้เวลาเราจะเลือกซื้อน้ำมันเครื่อง เราก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์ของรถ ซึ่งน้ำมันเครื่องรถยนต์ที่วางขายตามท้องตลาด จะแบ่งตามเครื่องยนต์ได้ 2 ชนิดคือ น้ำมันเครื่องเบนซิน และน้ำมันเครื่องดีเซล โดยน้ำมันเบนซิน ฉลากโดยทั่วไปจะระบุว่า Gasoline ส่วนน้ำมันดีเซล ฉลากโดยทั่วไปจะระบุว่า Diesel นั่นเอง ซึ่งน้ำมันเครื่องแต่ละชนิดจะมีค่ามาตรฐานน้ำมันเครื่อง โดยการันตีมาจากหลายองค์กร เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับน้ำมันเครื่องแบบสากลทั่วโลก เช่น
- API (American Petroleum Institute) สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา
- SAE (Society of Automotive Engineers) สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ แห่งสหรัฐอเมริกา
- JASO (Japanese Automotive Standard Organization) องค์กรมาตรฐานยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น
สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้ค่า API (American Petroleum Institute) มากที่สุด ซึ่งค่า API จะแบ่งเป็น 2 สัญลักษณ์ตามเครื่องยนต์แต่ละประเภท ดังนี้
- เครื่องยนต์เบนซินขึ้นต้นด้วยตัว S เป็นค่า API สำหรับรถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 1930 โดยปัจจุบันพัฒนามาถึง SN เหมาะกับเครื่องยนต์เทคโนโลยีที่ผลิตตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นไป
- เครื่องยนต์ดีเซลขึ้นต้นด้วยตัว C เป็นค่า API สำหรับรถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 1961 ปัจจุบันพัฒนามาถึง CI-4 และ CK-4 เหมาะกับเครื่องยนต์เทคโนโลยีที่ผลิตตั้งแต่ปี 2004 และ 2006 เป็นต้นไป สามารถเช็กรายละเอียดได้ที่ www.api.org (ยิ่งปีเก่ามาตรฐานก็จะยิ่งน้อย)
ส่วนการเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีมาตรฐาน API ควรเลือกให้เหมาะสมกับรถยนต์ ไม่ควรใช้น้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพต่ำกว่ารถรุ่นนั้น เช่น รถเครื่องยนต์เบนซินที่ผลิตในปี 2011 เป็นต้นไป ควรใช้น้ำมันเครื่องที่มีมาตรฐาน API SN แต่ไม่ควรใช้น้ำมันเครื่องที่มีมาตรฐานต่ำกว่าอย่าง API SM, API SL และ API SJ พูดง่าย ๆ ก็คือ ตัวอักษรที่อยู่ท้ายสุด ไล่จาก A-Z ตัวอักษรยิ่งใกล้ตัว Z คือมาตรฐานสูงขึ้นนั่นเอง
อ่านค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องกันเถอะ
ค่าความหนืดของน้ำมันเครื่อง ตามค่ามาตรฐานของ SAE (The Society of Automotive Engineer) จะแสดงถึงค่าความหนืดของน้ำมันเครื่อง โดยจะประกอบด้วยตัวเลข 2 ชุด อยู่ด้านหน้า และด้านหลัง “ตัวอักษร W” ซึ่งย่อมาจาก Winter Grade โดยมีขีดขั้นกลาง เช่น 5W-40, 0W-20, 10W-30, 15W-40 เป็นต้น
- ตัวเลขหน้า W : จะบอกถึงค่าต้านทานการเป็นไขที่อุณหภูมิต่ำ ว่าจะสามารถคงความใสไว้ได้ที่อุณหภูมิเท่าไหร่โดยไม่เป็นไข ซึ่งสำคัญมากถ้าคุณอยู่ในประเทศที่อุณหภูมิติดลบหรือเย็นจัด เพราะมีโอกาสที่น้ำมันเครื่องจะข้นหนืดจนแข็งตัวได้มากกว่า แต่ถ้าเป็นบ้านเราที่ร้อนแบบนี้อาจจะไม่ต้องห่วงเรื่องตัวเลขส่วนนี้มากนัก โดยตามท้องตลาดจะมีค่าดังนี้
- 0W จะคงความข้นใสไว้ได้ต่ำกว่า -30 องศาเซสเซียส โดยไม่เป็นไข
- 5W จะคงความข้นใสไว้ได้ถึง -30 องศาเซสเซียส โดยไม่เป็นไข
- 10W จะคงความข้นใสไว้ได้ถึง -20 องศาเซสเซียส โดยไม่เป็นไข
- 15W จะคงความข้นใสไว้ได้ถึง -10 องศาเซสเซียส โดยไม่เป็นไข
- 20W จะคงความข้นใสไว้ได้ถึง 0 องศาเซสเซียส โดยไม่เป็นไข
- ตัวเลขหลัง W : จะบอกถึงค่าความหนืดน้ำมันเครื่องที่อุณหภูมิ 100 องศา แทนค่าออกมาเป็นตัวเลขที่เรียกว่า “เบอร์ของน้ำมันเครื่อง” เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ในระดับสากลว่า เมื่อเครื่องยนต์ทำงานเต็มที่ จะอยู่ที่ระดับความหนืดเท่าใด ค่าดังกล่าวมีตั้งแต่ 5, 10, 20, 30, 40, 50, 60 ยิ่งตัวเลขมากแสดงว่า มีความหนืดน้ำมันที่มาก
เลือกความหนืดของน้ำมันเครื่องยังไงให้เหมาะสม
- เวลาเราดูตัวเลขว่าหนืดมาก หรือหนืดน้อย ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าน้ำมันเครื่องรุ่นนั้นดีหรือไม่ดี แต่เป็นตัวเลขที่บอกว่าเหมาะสมกับเครื่องยนต์ของเราหรือไม่ โดยวิธีการเลือกเบอร์ความหนืดของน้ำมันเครื่องง่าย ๆ เราแนะนำให้พิจารณาเลือกจากตัวเลขเบอร์ด้านหลังก่อน ซึ่งคุณสามารถดูตามคู่มือของรถยนต์ที่แต่ละรุ่นระบุไว้ได้เลย ในนั้นจะบอกไว้เลยว่าเราควรเลือกที่ความหนืดเท่าไหร่ อย่างถ้าคู่มือรถของคุณแนะนำเบอร์ SAE 10W-30 ก็ให้เลือกน้ำมันเครื่องที่ตัวเลขเบอร์ความหนืดด้านหลัง W เป็นเบอร์ 30 ไว้ก่อน เพื่อการปกป้องเครื่องยนต์ในระดับที่เหมาะสม
- จากนั้นค่อยมาเลือกตัวเลขด้านหน้า W โดยอาจจะเลือกค่าตามที่คู่มือแนะนำ หรือใช้เบอร์ที่ใสขึ้น เช่น 0W หรือ 5W ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณด้วยว่ามีงบแค่ไหน อายุการใช้งานของเครื่องยนต์นานเท่าไหร่ รวมถึงต้องการประสิทธิภาพการใช้งานอย่างไร อย่างรถใหม่ก็สามารถใช้เบอร์ความหนืดน้อยได้ แต่ถ้าเป็นรถที่ผ่านการใช้งานมาโชกโชน และต้องการให้มีความหนืดเพิ่มขึ้น ก็อาจเลือกตัวเลขที่สูงขึ้นได้นั่นเอง
ช้อปปิ้งสินค้า น้ำมันเครื่อง ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กับ AUTO1
Auto1 ศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจรที่ทันสมัย บริการครบวงจร ที่เดียวจบ ครบตั้งแต่ช่วงล่างจนถึงห้องเครื่อง ให้คำปรึกษาและดูแลโดยทีมช่างมืออาชีพที่มีประสบการณ์สูง ให้บริการด้วยเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน เพื่อบริการที่รวดเร็วและแม่นยำสูงสุด รวบรวมสินค้าอะไหล่รถยนต์จากผู้ผลิตชั้นนำระดับโลก