ตรวจบ้านก่อนโอน เช็กให้ชัวร์ก่อนโอเค
วันรับบ้านน่าจะเป็นอีกวันที่ทำให้คุณมีความสุขครั้งใหญ่ในชีวิต เป็นการเริ่มต้นความมั่นคงของครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรมที่คุณรอคอย ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีความตื่นเต้นดีใจสุด ๆ เลยใช่มั้ยครับ อ๊ะ อ๊ะ แต่ก็ต้องไม่ลืมนะครับ ว่าก่อนจะตกลงรับบ้านอย่างเป็นทางการจากโครงการหรือผู้ขาย คุณต้องตรวจเช็กหลาย ๆ จุด ในบ้านใหม่อย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าอยู่ในสภาพที่ดีพร้อม เมื่อยกกระเป๋าย้ายเข้ามาจะได้ไม่ต้องปวดหัวกับข้อบกพร่องของบ้านและการตามแก้ปัญหาทีหลัง เอ๊ะ! แล้วต้องเช็กอะไรบ้างนะ...อยากรู้ตามมาดูกันครับ
เช็กระบบน้ำ
เช็กง่าย ๆ ด้วยการลองเปิดก๊อกน้ำทุกจุดในบ้าน สังเกตดูว่าน้ำไหลแรงเป็นปกติหรือไม่ การทำงานของปั๊มน้ำราบรื่นดีหรือไม่ ถ้าปั๊มน้ำที่ใช้เป็นระบบแรงดันคงที่ ก็ไม่ควรจะมีเสียงรบกวนขณะปั๊มทำงานนะครับ จากนั้นลองปิดก๊อกน้ำแล้วสังเกตมิเตอร์ด้วยนะครับ ถ้าตัวเลขยังวิ่งอยู่แสดงว่ามีจุดที่น้ำรั่วต้องหาให้เจอว่ารั่วตรงไหน ส่วนจุดที่เป็นทางระบายน้ำให้ลองเทน้ำลงไปแล้วดูว่าท่อระบายน้ำได้ดีหรือไม่ ส่วนในห้องน้ำเบื้องต้นให้เช็กสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องน้ำ เช่น อ่างล้างหน้า ก๊อกน้ำ ฝักบัว ชักโครก สายชำระ ว่ามีครบตามข้อตกลงหรือไม่ ลองเปิด-ปิดใช้งานด้วยนะครับ
เช็กระบบไฟฟ้า
เบื้องต้นให้ลองเปิด-ปิดไฟทุกดวงในบ้านครับ ดูว่ามีจุดไหนที่ไฟไม่ติดบ้างหรือไม่ ลองเช็กมิเตอร์ไฟ โดยการปิดไฟแล้วสังเกตดูครับ ถ้าตัวเลขที่มิเตอร์ยังวิ่งอยู่แสดงว่ามีไฟรั่ว ส่วนในห้องน้ำมีการเดินสายไฟสำหรับติดเครื่องทำน้ำอุ่น มีสายดิน และมีเบรกเกอร์แยกต่างหากหรือเปล่า ปลั๊กไฟต่างๆ ที่อยู่นอกอาคารก็ควรต้องมีตัวกั้นน้ำกันฝนเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน สำหรับการตรวจเช็กเรื่องไฟฟ้าบางอย่าง เพื่อความปลอดภัยคนที่จะทำหน้าที่นี้ควรมีความรู้เรื่องงานไฟฟ้าและการใช้เครื่องมือด้วยนะครับ เช่น การใช้ไขควงวัดไฟแตะที่น็อตของปลั๊กไฟเพื่อเช็กไฟรั่ว หรือการเปิดปลั๊กเช็กการเดินสายไฟ ซึ่งต้องมีครบ 3 เส้น (มีสายดิน) เช็กกระดิ่งหน้าบ้านเดินสายไฟครบ 3 เส้น (มีสายดิน) มีกล่องครอบกันน้ำ การตรวจสอบสายดินของเมนเบรกเกอร์ ซึ่งจะต้องฝังลึกประมาณ 2 เมตร หรือการเช็กสายไฟใต้หลังคาว่ามีการร้อยสายใส่ท่อเรียบร้อยมั้ย ซึ่งต้องปิดเมนเบรกเกอร์ก่อนตรวจสอบทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย
เช็กพื้น
วิธีเช็กง่าย ๆ ให้ลองเดินเท้าเปล่าบนพื้น แล้วลากเท้าสังเกตดูครับ ว่าการปูพื้นเรียบเสมอกันดีหรือไม่ จากนั้นลองใช้เหรียญเคาะตามพื้นสังเกตจากเสียงว่ามีความแตกต่างตรงจุดไหน เสียงที่ดีควรจะเป็นเสียงทึบ ๆ นั่นเป็นการบอกได้ในเบื้องต้นว่าพื้นเทอัดแน่นดี แต่ถ้าเสียงฟังดูรู้ว่าโปร่ง ๆ แสดงว่าจุดนั้นน่าจะพื้นกลวง ทดสอบความลาดเอียงของพื้นโดยการใช้ลูกแก้ว 2-3 ลูก วางบนพื้นให้ห่างกันประมาณ 10 ซม. ถ้าลูกแก้วไหลไปรวมกันแสดงว่าพื้นเป็นหลุม ไม่เรียบเสมอกัน
เช็กงานผนัง
เช็กการทาสีผนัง ว่ามีความเรียบเนียนเสมอกัน หรือมีรอยร้าวของสีหรือไม่ ผนังเป็นส่วนที่มองผ่าน ๆ อาจจะไม่เห็นจุดบกพร่องเรื่องความเรียบเสมอกัน ดังนั้น เวลาจะตรวจสอบผนังหรือวอลเปเปอร์ให้แนบหน้ากับพื้นผนังก็จะเห็นได้ชัดขึ้นครับว่าผนังเสมอกันหรือไม่ วอลเปเปอร์ติดเรียบเสมอกันหรือเปล่า ส่วนผนังด้านล่างตรงบริเวณขอบบัวล่างให้ใช้ไม้บรรทัดวางชิดขอบบัวติดผนัง แล้วลองเลื่อนไปเรื่อย ๆ ถ้าเห็นช่องระหว่างไม้บรรทัดแสดงว่าติดขอบบัวไม่ตรง มาถึงส่วนสำคัญอย่างประตู หน้าต่าง ลองเปิด-ปิดดูครับว่าลงล็อกดีหรือเปล่า มีการทรุดตัวมั้ย รวมถึงกุญแจสามารถเปิดล็อกประตูได้ครบทุกดอกหรือเปล่าด้วยครับ
เช็กใต้หลังคา
บริเวณใต้หลังคานี้ต้องอาศัยความชำนาญสักนิดนะครับ เพราะต้องปืนบันไดขึ้นไปบริเวณใต้หลังคา ซึ่งก่อนอื่นเลยต้องสังเกตดูให้แน่ใจก่อนนะครับ ว่าสายไฟที่นำขึ้นมาซ่อนไว้ ร้อยอยู่ใต้โครงเหล็กหลังคาแล้วแน่ ๆ ทางที่ดีสายไฟควรถูกร้อยใส่ท่อไว้อย่างดีด้วยนะครับ และควรปิดเมนเบรกเกอร์ให้เรียบร้อยก่อนจะขึ้นไป เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายหากเกิดไฟช็อตขณะขึ้นไปสำรวจใต้หลังคา เมื่อขึ้นไปแล้วลองเช็กฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา ว่าฉีกขาดหรือไม่ ส่องไฟฉายไปที่หลังคาเช็กการรั่วซึม ถ้ามีแสงลอดออกมาจากด้านนอกแสดงว่าหลังคาจุดนั้นรั่ว
นี่เป็นวิธีง่าย ๆ ของการตรวจรับบ้าน ซึ่งเป็นการตรวจสอบงานขั้นสุดท้ายก่อนจะเซ็นรับโอนบ้าน เป็นขั้นตอนที่ควรให้ความสำคัญ และต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วนมาก ๆ ในการพิจารณา เพราะเมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้ว ถือว่าเรายอมรับกับสภาพบ้านตามนี้แล้ว ดังนั้น ถ้าไม่แน่ใจว่าจะลงรายละเอียดสิ่งที่ต้องดูได้อย่างครบถ้วน แนะนำให้ติดต่อผู้ชำนาญการด้านนี้โดยเฉพาะมารับหน้าที่นี้ เพียงเท่านี้การตรวจรับบ้านของคุณก็จะได้มาตรฐาน และคุณก็สามารถเก็บกระเป๋าย้ายเข้าบ้านใหม่ได้อย่างสบายใจแล้วล่ะครับ
• สนใจบริการ “vFIX” ช่างมือ 1 เรื่องบ้านคุณ ครบจบทุกปัญหาเรื่องบ้าน คลิก
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สินค้าแนะนำ