บอกลาหลังคาแตกร้าวรั่วซึมด้วย "ยาแนวและแผ่นปิดรอยต่อ"
หลังคารั่วซึมหรือมีรอยแตกร้าว เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข และต้องอาศัยเครื่องมือแก้ไขเฉพาะจุด ซึ่งปัญหาหลังคาชวนปวดหัว สามารถแก้ไขได้ด้วยวัสดุอุปกรณ์หลัก ๆ คือ “แผ่นปิดรอยหลังคา” และ “ยาแนวหลังคา” เพื่อให้หลังคาของคุณกลับมาใช้งานได้ดีดังเดิม วัสดุดังกล่าวจะเจ๋งแค่ไหน ช่วยซ่อมแซมหลังคาของคุณได้อย่างไร เลือกซื้อแบบไหนดีให้เหมาะกับการใช้งาน ไทวัสดุขอนำคำตอบมาฝากทุกคน
เลือกแผ่นปิดรอยต่อหลังคาอย่างไรให้ตอบโจทย์
แผ่นปิดรอยต่อหลังคา เป็นไอเทมที่ใช้สำหรับปิดบริเวณรอยต่อหลังคา หรือในส่วนที่มีรอยรั่วบนหลังคา ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำไหลลงมาทำความเสียหายภายในตัวบ้าน โดยแผ่นปิดรอยต่อหลังคาตามท้องตลาดจะมีด้วยกันหลัก ๆ อยู่ 2 ประเภท ได้แก่
- แผ่นปิดรอยต่อหลังคาชนิดเสริมไฟเบอร์ หรืออะลูมิเนียม : มีความทนทานสูง เหมาะกับการใช้งานระยะยาว และตอบโจทย์การปิดรอยต่อหลังคาโดยเฉพาะ ซึ่งแผ่นรอยต่อชนิดนี้ทำจากยางหรือแผ่นอะครีลิกคุณภาพสูง เสริมแกนกลางแผ่นด้านในด้วยตะแกรงอะลูมิเนียม หรือตะแกรงเหล็กเส้นใยอะลูมิเนียมที่มีความยืดหยุ่น เพื่อให้ดัดขึ้นรูปตามลอนได้ง่ายด้วยองศาที่ต้องการ พร้อมประกบสองด้านด้วยยางสังเคราะห์ สามารถทาสีทับได้ เพื่อให้สีหลังคาบ้านดูกลมกลืนทั่วทั้งแผ่น
- เทปปิดรอยต่อ หรือ เทปกาวกันรั่วซึม : เป็นไอเทมปิดรอยต่อหลังคาที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เพราะติดตั้งง่าย ราคาถูกกว่า แถมยังนำไปใช้ปิดรอยต่อบริเวณกันสาด รางน้ำฝน ปล่องควัน ท่อระบายอากาศ ระเบียงบ้าน รวมถึงหน้าต่าง ประตู หรือจุดต่าง ๆ ที่มีรอยรั่วได้อีกด้วย โดยวัสดุทำจากยางสังเคราะห์ มี 2 ชนิดคือ ยางสังเคราะห์บิวทิล (Butyl) และยางสังเคราะห์บิทูเมน (Bitumen) เป็นยางที่ทำขึ้นมาเพื่อเลียนแบบยางธรรมชาติ แต่มีความทนทานต่อสภาพอากาศ ใช้งานง่ายเพียงแค่ลอกฟิล์มด้านหลังออก ก็สามารถแปะลงไปบนพื้นผิวได้เลย แต่ความคงทนนั้นจะไม่สู้แผ่นปิดรอยต่อหลังคาชนิดแรก
นอกจากนี้ ข้อดี-ข้อเสียของวัสดุที่นำมาทำแผ่นปิดรอยต่อหลังคา หรือเทปกาวกันรั่วซึมก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยแผ่นปิดรอยต่อที่ทำจากอะคริลิกถือเป็นวัสดุที่มีคุณภาพดี สามารถทนต่ออุณหภูมิและติดได้อย่างแน่นหนา หรืออย่างเทปกาวที่ทำจากวัสดุบิวทิลที่ มีข้อดีตรงที่สามารถแกะและปรับตำแหน่งของแผ่นแปะได้ใหม่ แต่ในแง่ความทนทานต่ออากาศร้อน ๆ อาจจะไม่สู้ตัวอื่น ส่วนวัสดุบิทูเมนเมื่อปิดลงไปแล้วมันจะแห้งทันที ทำให้ปรับองศาหรือตำแหน่งของแผ่นลำบาก
ไม่ว่าคุณจะเลือกแผ่นปิดรอยต่อ ชนิดที่นำไปปิดรอยต่อหลังคาโดยเฉพาะ หรือเลือกแบบเทปปิดรอยต่อ เช็กลิสต์สำคัญในการเลือกซื้อเลยคือ ต้องมีคุณสมบัติป้องกันรังสี UV เพื่อประสิทธิภาพในการในงาน เนื่องจากหลังคาเป็นส่วนที่ต้องโดนแดด และเผชิญความร้อนอยู่ตลอดนั่นเอง นอกจากนี้ยังควรกันน้ำและทนต่อความหนาวเย็น เพราะมันจะนำมาซึ่งความชื้น หากวัสดุปิดรอยต่อไม่ทนต่ออุณหภูมิต่ำ ประสิทธิภาพก็อาจเสื่อมเร็วกว่าเดิม
ยาแนวหลังคา ตัวช่วยจบปัญหาหลังคารั่วซึม
สำหรับปัญหาหลังคามีรอยแตกร้าว หรือรั่วซึมจนสร้างความน่าหงุดหงิดใจ ยาแนวกันรั่วซึม ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการเบี่ยงทางน้ำ อุดรูรั่วและรอยแตกร้าว ซึ่งวัสดุยาแนวมีหลายชนิด แต่ที่เหมาะกับการนำมาใช้กับงานหลังคาจะมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ ซิลิโคน และโพลียูรีเทนนั่นเอง
- ซิลิโคน : เป็นยาแนวที่ทำมาจากวัสดุโพลิเมอร์ เป็นวัสดุกึ่งเหลวที่มีความยืดหยุ่นสูง ทนต่อรังสี UV มีแรงยึดเกาะสูง และด้วยคุณสมบัติที่สามารถนำไปใช้ได้สารพัดประโยชน์ ทั้งนี้ยาแนวซิลิโคนมี 2 ประเภท คือ
- ยาแนวซิลิโคนแบบมีกรด : จะมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ซึ่งทำให้ยาแนวแห้งเร็ว เหมาะกับงานปิดรอยต่อ ส่วนพื้นผิวที่ไม่เหมาะกับยาแนวซิลิโคนแบบมีกรด เป็นพวกกลุ่มโลหะและหินอ่อน เพราะกรดอาจทำปฏิกิริยากัดกร่อนพื้นผิวจนเกิดความเสียหายได้
- ยาแนวซิลิโคนแบบไม่มีกรด : ไม่มีกลิ่นเหม็น มีความยืดหยุ่นมากกว่า แต่จะแห้งช้ากว่า และมีแรงยึดเกาะที่น้อยกว่า พื้นผิวที่เหมาะกับการใช้งาน เช่น คอนกรีต ปูน อิฐ ไม้ เซรามิก อะลูมิเนียม
- โพลียูรีเทน : ยาแนวประเภทนี้มักเรียกกันว่า กาวพียู (PU) เป็นกาวที่มีความยืดหยุ่นสูง มีความแข็งแรง ทนทาน แห้งเร็ว แห้งแล้วไม่หดตัว สามารถอุดรอยต่อในที่ที่มีการเคลื่อนตัวได้ดี ที่สำคัญยังเทนต่อรังสี UV สามารถทาสีทับได้ เหมาะกับงานอุดรอยต่อโครงสร้าง รอยต่อผนังอาคาร อุดร่องของวงกบ แผ่นพรีคาสท์ คอนกรีต ปิดรอยต่อเมทัลชีท อุดรอยต่อกระเบื้องมุงหลังคา อุดรอยแตกร้าว ฯลฯ
เทคนิคลงยาแนวหลังคาให้ได้ประสิทธิภาพ
- เตรียมใบมีดโกน สเปรย์อะซีโตน ถุงมือ ปืนยิงกาว ยาแนวหลังคา และวัสดุทากันซึมให้พร้อม
- ตรวจเช็กบริเวณที่ต้องการซ่อมแซมให้ดี และมั่นใจว่าเป็นจุดที่ต้องการแก้ไขซ่อมแซมจริง ๆ
- เริ่มทำความสะอาดบริเวณนั้นให้แห้งสะอาด ไม่มีสนิมหรือเศษผงเกาะ หากมีคราบกาวเก่า ให้ใช้ใบมีดโกนและสเปรย์อะซีโตนขจัดออกให้หมด อย่าลืม! สวมถุงมือเพื่อความสะอาด และป้องกันอันตราย
- เมื่อทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ก็ลงยาแนวหลังคาได้เลย โดยลงด้วยแรงดันที่สม่ำเสมอด้วยปืนยิงกาว
- ลงวัสดุทากันซึมชนิดอะคริลิก หรือโพลียูรีเทน เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับหลังคา เมื่อแห้งตัวจะมีลักษณะเหมือนแผ่นยางบาง ๆ ช่วยป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดี
ช้อปปิ้งสินค้า ซิลิโคนยาแนว แผ่นปิดรอยต่อ ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กับ ไทวัสดุ
สัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าเพื่อบ้านบนโลกออนไลน์ได้แล้ววันนี้กับ ไทวัสดุ ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย จำหน่าย ซิลิโคนยาแนว แผ่นปิดรอยต่อหลังคา ที่ตอบโจทย์ความต้องการหลากหลายจากแบรนด์ชั้นนำ สั่งง่าย สะดวกรวดเร็ว เลือกรับสินค้าที่สาขาด้วยตนเอง หรือเลือกรับสินค้าที่บ้าน บริการจัดส่งทั่วประเทศ สั่งผ่านออนไลน์ได้ที่ thaiwatsadu.com หรือติดต่อผ่านช่องทาง Chat & Shop LINE @thaiwatsadu โทร. 1308