รับมือทุกปัญหาจากฝนตกหนัก เพียงติดตั้ง "รางน้ำฝน-โซ่ระบายน้ำฝน"
เหตุผลดี ๆ ที่ควรติดตั้งรางน้ำฝน
- รางน้ำฝนช่วยลำเลียงน้ำฝนให้ไหลลงในจุดที่ต้องการ ทั้งเพื่อการระบายน้ำที่ดี และสามารถกักเก็บน้ำฝนเอาไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น
- รางน้ำฝนช่วยป้องกันไม่ให้น้ำฝนขังบนหลังคาบ้าน ลดการผุกร่อนก่อนเวลาอันสมควร
- รางน้ำฝนช่วยป้องกันไม่ให้น้ำฝนกระเซ็นสู่บริเวณบ้านที่อยู่ใกล้เคียง ลดการเกิดปัญหาหรือความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้าน
- เมื่อน้ำฝนถูกลำเลียงไปยังจุดที่ต้องการ ไม่กระจัดกระจายจนสร้างความรำคาญ ก็จะช่วยไม่ให้น้ำฝนไหลลงไปขังในพื้นดิน ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาดินทรุด
- เมื่อเกิดฝนตกหนัก รางน้ำฝนจะช่วยลดแรงกระแทกของน้ำฝน ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่สนามหญ้า บ่อปลา ต้นไม้ หรือสวนภายในบริเวณบ้าน
- เมื่อฝนตก เป็นธรรมดาที่สิ่งสกปรกบนหลังคาจะไหลลงมาเกาะตามประตู หน้าต่าง และผนังบ้าน หากเราติดตั้งรางน้ำฝน ก็จะช่วยป้องกันสิ่งสกปรกเหล่านี้ไม่ให้กระเซ็นลงมา ซึ่งเป็นสาเหตุของคราบสกปรก เชื้อรา และปัญหาสีบ้านเสื่อมสภาพนั่นเอง
- เมื่อปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากฝนตกหนัก ถูกจัดการด้วยการติดตั้งรางน้ำฝนแล้ว ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และซ่อมแซมบ้านไปในตัว
รางน้ำฝนเลือกแบบไหนดี
รางน้ำฝนมีหลายประเภท แต่ละวัสดุมีจุดเด่นและข้อจำกัดแตกต่างกันไป อย่างรางน้ำฝนสังกะสี มีข้อดีคือติดตั้งง่าย ราคาถูก แต่ข้อด้อยคือเป็นสนิมและผุกร่อนง่าย รวมถึงมีเสียงดังเมื่อฝนกระทบกับรางน้ำ รางน้ำฝนสเตนเลส มีความคงทนกว่ารางน้ำฝนสังกะสี เกิดสนิมได้ยาก อายุการใช้งานยาวนาน 10 ปีขึ้นไป ส่วนข้อด้อยคือมีราคาสูง และบริเวณรอยเชื่อมระหว่างรางน้ำอาจเกิดการรั่วซึมได้หากช่างติดตั้งไม่เนี้ยบพอ รางน้ำฝนอะลูมิเนียม มีน้ำหนักเบา ไม่เกิดสนิมง่าย ทนต่อการกัดกร่อนได้สูง อายุการใช้งานนานถึง 25 ปีเลยทีเดียว แถมยังมาพร้อมดีไซน์ที่ไร้รอยเชื่อมระหว่างรางน้ำ และมีสีให้เลือกหลายแบบ
รางน้ำฝนไวนิล ผลิตจากพลาสติก หรือ uPVC มีความสวยงามเข้ากับบ้านได้ทุกสไตล์ เด่นในเรื่องความทนทานทุกสภาพอากาศ ไม่เป็นสนิมตลอดอายุการใช้งาน มีอายุงานที่ใช้ได้เฉลี่ยประมาณ 10 ปีขึ้นไป และเวลาฝนตกกระทบจะไม่ก่อให้เกิดเสียงดัง แต่ต้องติดตั้งโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ สุดท้ายคือรางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส ไม่มีปัญหาเรื่องสนิมและการผุกร่อน อายุงานที่ใช้ได้เฉลี่ยประมาณ 20 ปีขึ้นไป มีสีสันให้เลือกหลายแบบ ช่วยตกแต่งบ้านสวยงาม แต่การติดตั้งต้องใช้เทคนิคการเชื่อมรางน้ำฝนด้วยน้ำยาไฟเบอร์ ซึ่งต้องพึ่งช่างติดตั้งที่เชี่ยวชาญ เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วซึมตามมา
รู้จักโซ่ระบายน้ำฝน ไอเทมเด็ดช่วยป้องกันน้ำฝนกระจาย
โซ่ระบายน้ำฝนทำงานอย่างไร
- ส่วนมากการติดตั้งโซ่ระบายน้ำฝน เราจะติดตั้งร่วมกับรางน้ำฝน หรือบริเวณชายคาบ้าน
- เมื่อรางน้ำฝนช่วยรองรับ และลำเลียงน้ำฝนให้ไหลไปยังจุดที่ต้องการ เรามีทางเลือก 2 ทางในการช่วยระบายน้ำฝน คือใช้ท่อระบายน้ำฝน หรือ ใช้โซ่ระบายน้ำฝน
- ถ้าใช้แบบท่อ ก็จะช่วยระบายน้ำฝนออกจากตัวรางได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าใช้แบบโซ่ ก็จะช่วยชะลอความแรงของน้ำที่มาจากรางน้ำฝนได้นั่นเอง
- ควรเลือกโซ่ระบายน้ำฝนที่ผลิตจากวัสดุคุณภาพดี มีความแข็งแรง ไม่เป็นสนิม ทนทานทุกสภาวะอากาศ เช่น โซ่ระบายน้ำฝนไวนิล เป็นต้น
วิธีการติดตั้งรางน้ำฝน และโซ่ระบายน้ำฝนเบื้องต้น
- สำรวจพื้นที่ติดตั้ง โดยตรวจเช็กความแข็งแรงของเชิงชาย หรือปีกนกที่จะติดตั้งรางน้ำฝน หากมีรางน้ำฝนเก่า ให้ทำการรื้อถอนเสียก่อน โดยระวังอย่าให้กระทบกับโครงสร้างของหลังคา
- วัดระดับน้ำระหว่างหัวท้ายของรางน้ำ เพื่อวัดความลาดเอียงของรางน้ำ แล้วใช้เชือกตีแนวเพื่อกำหนดแนวเส้นที่ต้องการติดตั้ง
- เริ่มติดตั้งตะขอแขวนรางตามระยะที่เหมาะสมกับวัสดุของรางน้ำฝน
- รางน้ำฝนแต่ละชนิดจะมีระยะที่เหมาะสมแตกต่างกัน โดยทั่วไปจะเว้นระยะห่างประมาณ 60-80 ซม.
- การเชื่อมต่อรางน้ำฝนแต่ละชนิดจะใช้วัสดุเชื่อมที่แตกต่างกัน อย่างรางน้ำฝนไวนิลจะต้องใช้ซิลิโคนในการช่วยเชื่อมระหว่างรอยต่อ หรือรางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส จะต้องใช้น้ำยาไฟเบอร์ เป็นต้น
- ติดตั้งรางน้ำฝนกับผนังหรือเสาด้วยตัวยึด
- ตรวจเช็กการทำงานของรางน้ำฝนด้วยการทดลองฉีดน้ำบนหลังคา หากน้ำไหลเป็นปกติก็เป็นอันเรียบร้อย
- สำหรับโซ่ระบายน้ำฝน จะเลือกใช้วัสดุเดียวกันกับรางน้ำก็ได้เพื่อความสวยงาม และการดูแลรักษาที่ง่ายขึ้น โดยการติดตั้งให้เริ่มจากติดตั้งข้อต่อโซ่ระบายน้ำฝน กับตัวครอบเชื่อมรางลงไปที่ตัวรางน้ำฝน
- จากนั้นปรับความยาวของโซ่ระบายน้ำฝนตามความเหมาะสม และทำการติดตั้งโซ่ระบายน้ำฝนเข้ากับรางน้ำฝน
- ใส่ตุ้มน้ำหนักโดยถ่วงไว้กับตะขอเกี่ยวอันสุดท้ายเพื่อถ่วงน้ำหนัก ก็เป็นอันเรียบร้อย