เรื่องน่ารู้ ก่อนสร้างห้องครัว ให้ฟังก์ชันครบ ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน
สำหรับคนที่กำลังจะทำครัวใหม่ หรือคิดอยากจะทุบครัวเดิม แล้วทำการปรับปรุงห้องครัว อาจมีบางเรื่องที่ยังไม่รู้ เราจึงอยากแนะนำให้ลองอ่านบทความนี้ก่อน เพื่อเป็นแนวทางในการทำห้องครัวใหม่ ให้ครบฟังก์ชัน และสามารถตอบโจทย์การใช้งานของคุณได้อย่างดี
ครัวไทย ครัวฝรั่งคืออะไร
ครัวไทย คือ ครัวที่ใช้ทำอาหารหนักอย่างการต้ม แกง ผัด ทอด อาหารไทยจะมีกลิ่นค่อนข้างแรง จึงควรกั้นสัดส่วนชัดเจน มีประตูปิดไม่ให้กลิ่นเข้าบ้าน อาจเป็นครัวแบบโล่งหรือใช้เครื่องดูดควัน ช่วยระบายกลิ่น
ครัวฝรั่งหรือแพนทรี่ เป็นส่วนเตรียมอาหารเพื่อเสิร์ฟ และใช้ทำอาหารเบา ๆ อย่างอุ่นกับข้าว ปิ้งขนมปัง ชงกาแฟ ซึ่งไม่มีกลิ่นฉุน จึงนิยมจัดไว้ในห้องอาหาร พร้อมทั้งทำเป็นเคาน์เตอร์สำหรับนั่งกินอาหารแบบง่าย ๆ ได้ด้วย
จัดครัวไว้ตรงไหนของบ้านดี
ห้องครัวควรอยู่ใกล้หรือติดห้องอาหาร และอยู่ด้านทิศตะวันตกหรือทิศใต้ ซึ่งมีแสงแดดช่วยไล่ความอับชื้น อีกทั้งควรอยู่ใต้ลมหรือด้านที่ลมจะไม่พัดกลิ่นอาหารเข้าบ้าน แต่ถ้าพื้นที่จำกัดอย่างทาวน์เฮ้าส์หรือตึกแถว ก็ทำประตูปิดให้เป็นสัดส่วน หรือการใช้เครื่องดูดควันและหลังคาโปร่งแสงก็ช่วยได้
ซิงค์ เตาไฟ ตู้เย็น ไว้ตรงไหน
การจัดวางชุดครัวที่ดี ควรจัดวางตามลำดับการใช้งาน ให้เป็นรูปสามเหลี่ยมหรือเส้นตรงเพื่อความสะดวก คือ
- ส่วนเตรียมอาหาร เริ่มจากวางตู้เย็นอยู่ด้านข้างเคาน์เตอร์ส่วนที่เป็นพื้นที่เตรียมอาหาร เพื่อให้สามารถวางของ และหยิบออกมาจากตู้เย็นได้สะดวก
- ส่วนล้าง ถัดมาให้เป็นพื้นที่ของส่วนล้าง คือ อ่างล้างจาน ล้างผักผลไม้หรือเนื้อสัตว์
- ส่วนปรุงอาหาร ตามด้วยพื้นที่ของส่วนปรุงอาหาร คือ เตาไฟ เตาอบ
เคาน์เตอร์สูงเท่าไร จึงไม่เมื่อยหลัง
ความสูงของเคาน์เตอร์ที่เหมาะกับคนไทยคือ 85 – 87 เซนติเมตร หากต่ำหรือสูงกว่านี้ อาจเกิดอาการปวดหลังจากการก้มได้ ถ้าเป็นคนตัวสูงก็ใช้ขนาดเดียวกับฝรั่งคือ 90 – 93 เซนติเมตร แต่ถ้าเป็นคนตัวเล็กทั้งบ้าน ก็ต้องหาระยะที่เหมาะสมเป็นกรณีไป
ใช้วัสดุอะไร ทำครัวดีล่ะ
ควรเลือกวัสดุที่ทนทานและทำความสะอาดง่าย โดยสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทตามการใช้งาน คือ
1. วัสดุตกแต่ง ได้แก่ กระจกแผ่นลามิเนตลายต่าง ๆ ไม้จริงและไม้อัดทาสี เหมาะสำหรับส่วนที่ต้องการความสวยงาม ใช้งานไม่หนักและไม่เปียกชื้น เช่น หน้าบานตู้ ด้านข้างเคาน์เตอร์ ชั้นวางของ และผนังทั่วไป
2. วัสดุสำหรับใช้งาน ได้แก่ สเตนเลส หินแกรนิต กระเบื้องเซรามิก หินสังเคราะห์ (เรียงลำดับตามความทนทานจากมากไปน้อย) เหมาะสำหรับส่วนที่ต้องรับแรงกระแทกจากการใช้งานเปียกชื้น โดนความร้อนและขัดถูบ่อย เช่น ท็อปเคาน์เตอร์ผนังที่ติดกับเตาไฟ ซิงค์ล้างจานและพื้นห้อง
งานระบบในห้องครัวที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง
งานระบบเป็นเหมือนพลังงานหล่อเลี้ยงห้องครัวให้ใช้งานได้ ซึ่งมีข้อควรคำนึงในการเตรียม ดังนี้
1. ระบบไฟฟ้า
- ควรแยกวงจรไฟฟ้าของห้องครัวออกจากของบ้าน เผื่อเวลาไม่อยู่บ้านแล้วจะปิดคัตเอ๊าต์ทั้งบ้านก็ทำได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าของในตู้เย็นจะเน่าเสีย
- ควรซื้อหรือศึกษาขนาดและการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวตั้งแต่ระหว่างก่อสร้าง โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่จะฝังเข้าในตู้บิลท์อินอย่างตู้เย็น ไมโครเวฟ เครื่องดูดควัน เตาไฟฟ้า เพื่อจะได้ทราบขนาดและตำแหน่งติดตั้งปลั๊กและสวิตช์ไฟ
- ติดปลั๊กไฟให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 25 เซนติเมตร และจากท็อปเคาน์เตอร์ 10 เซนติเมตร เพื่อความปลอดภัยในการเช็ดทำความสะอาดและป้องกันไฟฟ้าช็อต อีกทั้งติดตั้งสายดินและเลือกใช้ปลั๊กที่มี 3 รู เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรุ่นจะผลิตเป็นปลั๊กสามขาสำหรับสายดินไว้ด้วย
2. ระบบประปา
- หากต้องใช้ปั๊มน้ำ ห้ามต่อปั๊มน้ำกับท่อน้ำโดยตรง เพราะผิดกฎหมายและอาจทำให้ท่อแตกได้ ต้องต่อท่อจากมิเตอร์เข้าถังเก็บน้ำแล้วจึงต่อกับปั๊ม โดยเลือกขนาดถังจากจำนวนคนในบ้าน คือ ขนาดถัง = จำนวนคน x 200 ลิตร
- ติดวาล์วน้ำให้กับท่อที่ต่อเข้าอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างเครื่องล้างจาน เครื่องซักผ้า ซึ่งอาจนำออกมาซ่อมแซมก็ทำให้ส่วนอื่น ๆ ของบ้านยังคงใช้น้ำได้ตามปกติ
- อย่าลืมเผื่อพื้นที่วางถังดักไขมันโดยควรวางไว้ใต้อ่างล้างจานหรือนอกบ้านก็ได้ แต่ต้องสะดวกในการดูแลทิ้งเศษอาหารและไขมัน
• เลือกช้อปสินค้าแบรนด์ KUCHE ได้ที่หน้าร้าน และหน้าเว็บ คลิก
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สินค้าแนะนำ