เครื่องทำน้ำอุ่น VS เครื่องทำน้ำร้อน ต่างกันอย่างไร
จะอาบน้ำตอนเช้า สาย บ่าย เย็น หรือก่อนนอน เมื่อร่างกายปะทะน้ำเย็น ๆ ปุ๊บ ก็คงต้องมีสะดุ้งกันบ้าง หลายบ้านจึงมีตัวช่วยอย่างเครื่องทำน้ำอุ่น หรือเครื่องทำน้ำร้อนติดไว้ เพราะแม้อากาศบ้านเราจะร้อนแค่ไหน แต่หลายคนคงอยากอาบน้ำในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับร่างกาย รวมถึงเลือกได้ว่าอยากจะอาบเย็นหรืออุ่นนั่นเอง ว่าแต่เครื่องทำน้ำอุ่นกับเครื่องทำน้ำร้อนแตกต่างกันอย่างไร แบบไหนเหมาะกับเรา ไทวัสดุขอไขข้อสงสัยให้ทุกคนตอนนี้เลย
เปรียบเทียบคุณสมบัติเครื่องทำน้ำอุ่น และเครื่องทำน้ำร้อน
เครื่องทำน้ำอุ่น
ต้องใช้งานคู่กับฝักบัว หรือก๊อกน้ำ (ส่วนใหญ่จะเห็นใช้กับฝักบัว) ซึ่งสามารถทำน้ำอุ่นได้เพียงจุดเดียว พูดง่าย ๆ คือติดตั้งจุดไหน ก็ใช้งานได้แค่จุดนั้น ส่วนการติดตั้งจะโชว์เครื่องไปเลย ไม่ต้องมีขั้นตอนมากมายเพียงต่อข้อต่อเข้ากับตัวเครื่องก็ใช้งานได้แล้ว โดยอุณหภูมิจะค่อย ๆ อุ่นขึ้นตามการหมุนปรับของเราที่ตัวเครื่อง เหมาะกับการใช้อาบน้ำ ที่สำคัญต้องติดตั้งสายดิน และระบบป้องกันไฟดูด-ไฟรั่วเพื่อความปลอดภัย หากยังไม่เห็นภาพเราขอสรุปคุณสมบัติของเครื่องทำน้ำอุ่นให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
• ติดตั้ง-ใช้งานได้จุดเดียว
• ใช้คู่กับฝักบัว-ก๊อกน้ำโดยตรง
• ปรับอุณหภูมิที่ตัวเครื่องได้เลย
• การติดตั้งจะโชว์ตัวเครื่อง
• ให้ความร้อนไม่สูงมาก กำลังไฟน้อยกว่าเครื่องทำน้ำร้อน
• ทำงานทันทีเมื่อน้ำไหลผ่าน และหยุดทำงานเมื่ออุณหภูมิสูงกว่ากำหนด
• เหมาะกับบ้านพักอาศัย คอนโดมิเนียม หอพักทั่วไป
• จำเป็นต้องติดตั้งสายดิน-เครื่องตัดไฟรั่ว
เครื่องทำน้ำร้อน
จะมีอุปกรณ์เสริมเยอะกว่าเครื่องทำน้ำอุ่น โดยต้องมีทั้งหม้อต้ม และท่อน้ำอุณหภูมิปกติต่อเข้ากับตัวเครื่อง ซึ่งจะติดตั้งเพียงจุดเดียวแต่จะส่งน้ำไปได้หลายจุด พูดง่าย ๆ คือติดตั้งจุดไหนก็ตาม เราจะใช้งานได้ทั้งฝักบัว อ่างล้างหน้า หรืออ่างอาบน้ำ ส่วนการทำงานคือ น้ำร้อนจะไม่ออกมาจากฝักบัวทันทีเหมือนเครื่องทำน้ำอุ่น แต่จะผ่านก๊อกน้ำผสมก่อน นั่นแปลว่าเวลาใช้งาน เราต้องติดตั้งก๊อกน้ำผสมที่จุดนั้น ๆ เพื่อเอาไว้ปรับน้ำร้อน-เย็นตามความต้องการ ไม่จำเป็นต้องไปยุ่งอะไรกับตัวเครื่องทำน้ำร้อนเลย ที่สำคัญต้องติดตั้งสายดิน และระบบป้องกันไฟดูด-ไฟรั่วเพื่อความปลอดภัย แต่ถ้าคุณยังงงว่าเครื่องทำน้ำร้อนแตกต่างจากเครื่องทำน้ำอุ่นอย่างไร เราเลยไม่พลาดสรุปแบบเข้าใจง่าย ๆ มาฝากทุกคน ดังนี้
• ติดตั้งจุดเดียว ใช้งานได้หลายจุด
• ต้องเดินท่อน้ำร้อน-เย็นเพิ่ม
• ปรับอุณหภูมิที่ก๊อกน้ำผสม
• ติดตั้งซ่อนตัวเครื่องได้เพื่อความสวยงาม
• ให้ความร้อนสูงกว่า กำลังไฟเยอะกว่า
• ทำงานทันทีเมื่อเปิดเครื่อง หรือเริ่มทำงานเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่ากำหนด และจะหยุดทำงานเมื่ออุณหภูมิสูงกว่ากำหนด
• เหมาะกับบ้านขนาดใหญ่ โรงแรม โรงพยาบาล
• จำเป็นต้องติดตั้งสายดิน-เครื่องตัดไฟรั่ว
เทคนิคติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น
• แนะนำให้ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 170 ซม. ขึ้นไป และติดตั้งให้อยู่ใกล้กับฝักบัว
• ต้องติดตั้งสายดินและเบรกเกอร์ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน
• ต้องทดสอบระบบตัดไฟก่อนการใช้งาน
• ควรตรวจสอบแรงดันน้ำว่าตรงกับคุณสมบัติเครื่องหรือไม่
เทคนิคติดตั้งเครื่องทำน้ำร้อน
• ควรวางแผนการติดตั้งตั้งแต่เริ่มวางโครงสร้างของอาคาร เนื่องจากต้องเดินท่อน้ำหลายจุด
• ต้องติดตั้งสายดินและเบรกเกอร์ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน
• ต้องทดสอบระบบตัดไฟก่อนการใช้งาน
• ควรตรวจสอบแรงดันน้ำว่าตรงกับคุณสมบัติของเครื่องหรือไม่
• ใช้งานร่วมกับก๊อกผสมน้ำร้อนหรือเย็นเท่านั้น และต้องใช้ท่อน้ำแยกประเภทน้ำร้อนและเย็น
เคล็ดลับการเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่น-น้ำร้อน
สิ่งที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจควักเงินในกระเป๋าออกไป คือประเภทของเครื่องทำน้ำอุ่น-น้ำร้อน โดยเราขอแบ่งประเภทเครื่องทำน้ำอุ่นตามรูปแบบการทำความร้อนดังนี้
• หม้อต้มทองแดง ทนความร้อนได้ดี มีราคาสูง ใช้งานได้ยาวนาน หากเกิดการอุดตันภายในท่อจากหินปูนจะต้องเปลี่ยนใหม่
• หม้อต้มกริลลอน (Grilon) หรือ หม้อต้มพลาสติก ราคาจับต้องได้ เป็นที่นิยม แต่ทำความร้อนได้ช้า และอายุการใช้งานน้อยกว่าประเภทอื่น
• ขดลวดทองแดง ทำงานโดยน้ำจะไหลผ่านขดลวดความร้อน ราคาสูงรองลงมาจากแบบหม้อต้มทองแดง ทำความร้อนเร็ว และต้องระวังเรื่องหินปูนอุดตันง่าย
สำหรับเครื่องทำน้ำร้อน แบ่งตามรูปแบบการทำความร้อนดังนี้
• ใช้เแก๊ส ไม่เป็นที่นิยมในบ้านเรา อาจพบได้ตามโรงพยาบาลหรือโรงแรม ต้องได้รับการออกแบบความปลอดภัยหลายชั้น มีความยุ่งยากในการติดตั้ง
• ใช้ไฟฟ้า การทำความร้อนจะคล้ายเครื่องทำน้ำอุ่น คือมีทั้งแบบหม้อต้มและแบบไหลผ่านขดลวด ซึ่งแบบหม้อต้มมักเห็นในต่างประเทศ เพราะเขาอยู่กันเป็นแฟลตหรืออะพาร์ตเมนต์ และใช้ตามโรงแรมใหญ่ ๆ เพราะต้องมีพื้นที่ในการติดตั้ง และวางหม้อต้มขนาดใหญ่นั่นเอง ส่วนแบบขดลวดจะมีขนาดกะทัดรัด แค่เปิดก๊อกผสมก็ใช้งานได้ทันที
• ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ไม่เหมือนโซลาร์เซลล์ เพราะโซลาร์เซลล์จะเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า แต่สำหรับเครื่องทำน้ำร้อน พลังงานแสงอาทิตย์จะมาช่วยทำให้อุณหภูมิของน้ำร้อนขึ้น ซึ่งต้องต่อท่อโลหะที่มีสารตัวกลางเพื่อดูดกลืนความร้อน เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะช่วยประหยัดพลังงานได้ดี แต่ติดตั้งค่อนข้างยุ่งยาก และมีค่าบำรุงรักษาแพง
ภายในเครื่องน้ำอุ่น-น้ำร้อน มีอะไรบ้าง
อย่างที่รู้กันแล้วว่า เครื่องทำน้ำอุ่นและเครื่องทำน้ำร้อนจะทำน้ำอุ่น ๆ ให้เราใช้งานได้ จะต้องผ่านการทำความร้อนจากขดลวด ดังนั้นส่วนประกอบหลักจะต้องมี
• ขดลวดความร้อน (Heater) เป็นอุปกรณ์ที่ให้ความร้อนกับน้ำ โดยส่วนในสุดจะเป็นลวดนิโครม ส่วนตรงกลางเป็นผงแมกนีเซียมออกไซด์ซึ่งเป็นฉนวนไฟฟ้าชั้นดี ทนต่อความร้อนสูง และส่วนชั้นนอกสุดเป็นท่อโลหะ อาจเป็นทองแดงหรือสเตนเลสก็ได้
• ถังน้ำ สำหรับบรรจุน้ำซึ่งจะถูกทำให้ร้อน
• ตัวควบคุมอุณหภูมิ (Thermostat) ทำหน้าที่ตัดกระแสไฟฟ้า โดยหลัก ๆ จะตัด 2 แบบ คือตัดเมื่ออุณหภูมิของน้ำถึงระดับที่เราตั้งไว้ และตัดเมื่อความร้อนสูงมากจนอาจเกิดอันตรายได้
• ระบบป้องกันไฟรั่ว มี 2 แบบ คือ ELB เป็นเบรกเกอร์ และ ESD เป็นแผงวงจรตัดไฟอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยตัดกระแสไฟฟ้าทันทีเมื่อมีการรั่ว
• สวิตช์แรงดันน้ำ ควบคุมการจ่ายไฟฟ้า ช่วยตัดการทำงานของเครื่องเมื่อไม่มีน้ำไหลเข้าเครื่อง
• แผงวงจรควบคุมการทำงาน แสดงสภาวะการทำงานต่าง ๆ
• ฟิลเตอร์กรองน้ำ มีในบางรุ่น ป้องกันสิ่งสกปรกเข้าไปในตัวเครื่อง
• ทางน้ำเข้า-ออก ต่อเข้ากับฝักบัวหรือข้อต่อสายต่าง ๆ ควรดูแลไม่ให้เกิดการอุดตัน
นอกจากรู้จักประเภทของเครื่องทำน้ำร้อน-น้ำอุ่น กันแล้ว จะซื้อมาติดตั้งใช้งานก็ต้องไม่พลาดพิจารณาเช็กลิสต์เหล่านี้ไว้ด้วย
• ราคา ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋า และปัจจัยอื่น ๆ เช่น สมาชิกในบ้าน ปริมาณการใช้งาน ขนาดพื้นที่บ้าน หากมีจำนวนมาก เลือกเป็นเครื่องทำน้ำร้อนจะตอบโจทย์กว่า เพราะติดตั้งจุดเดียว แต่ใช้งานได้หลายจุด แต่ถ้าอยู่คอนโดฯ หรือต้องการติดตั้งแค่ไม่กี่จุด ก็สามารถเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นได้เพื่อความคุ้มค่า
• กำลังไฟ ปกติมิเตอร์ไฟบ้านทั่วไปจะมีขนาด 5(15) เลือกเครื่องทำน้ำอุ่นกำลังไฟประมาณ 3,500 วัตต์ และติดตั้งเพียงจุดเดียวก็เพียงพอ ส่วนถ้ามีมิเตอร์ขนาด 15(45) หรือมีบ้านหลังใหญ่ หลายห้อง ให้เลือกเครื่องทำน้ำอุ่น-น้ำร้อน กำลังไฟ 4,500-6,000 วัตต์
• ปลอดภัยไว้ก่อน ตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่น-น้ำร้อนแบบไหน อย่ามองข้ามระบบความปลอดภัย เช่น สายดิน ระบบตัดไฟรั่วและไฟเกิน มอก. ตรวจเช็กแผงควบคุม รวมถึงอ่านคู่มือการใช้งาน และต้องติดตั้งโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ
การมีเครื่องทำน้ำอุ่น หรือเครื่องทำน้ำร้อนติดตั้งภายในบ้าน นอกจากช่วยอำนวยความสะดวก และเพิ่มความสบายในการอาบน้ำ หรือชำระล้างสิ่งสกปรกต่าง ๆ เราควรหมั่นตรวจเช็กเครื่องใช้ไฟฟ้าของเราว่ายังอยู่ในสภาพดีอยู่หรือไม่ มีน้ำรั่วซึมหรือเปล่า เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานทั้งตัวคุณเอง และทุกชีวิตในครอบครัว ที่สำคัญเราสามารถทดสอบอุปกรณ์ป้องกันไฟดูดด้วยตัวเองง่าย ๆ โดยการกดปุ่ม TEST ที่ตัวเครื่องอย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง เพื่อเช็กว่าระบบตัดไฟยังทำงานโอเคอยู่หรือไม่ เท่านี้คุณก็ใช้งานน้ำอุ่น ๆ ได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล
• ช้อปปิ้งสินค้า “เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องทำน้ำร้อน” ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กับไทวัสดุ คลิก
สัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าเพื่อบ้านบนโลกออนไลน์ได้แล้ววันนี้กับ ไทวัสดุ ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย จำหน่าย เครื่องทำน้ำอุ่นและน้ำร้อน ที่ตอบโจทย์ความต้องการหลากหลายจากแบรนด์ชั้นนำ สั่งง่าย สะดวกรวดเร็ว เลือกรับสินค้าที่สาขาด้วยตนเอง หรือเลือกรับสินค้าที่บ้าน บริการจัดส่งทั่วประเทศ สั่งผ่านออนไลน์ได้ที่ thaiwatsadu.com หรือติดต่อผ่านช่องทาง Chat & Shop LINE @thaiwatsadu โทร. 1308
สินค้าแนะนำ