ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย ครบเรื่องบ้าน ถูกและดี
logo_mobile
search
เลือกสาขา
หน้าแรก
บทความ
5 ปัญหายอดฮิตของถังเก็บน้ำ ที่ควรแก้ไขเร่งด่วน!

5 ปัญหายอดฮิตของถังเก็บน้ำ ที่ควรแก้ไขเร่งด่วน! 

ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะติดตั้งถังเก็บน้ำภายในบ้านเอาไว้ เพื่อช่วยสำรองน้ำประปาไว้ใช้ในยามที่น้ำไม่ไหลกะทันหัน และช่วยกรองสิ่งสกปรกหรือตะกอนที่มากับน้ำ ทำให้เราได้น้ำสะอาดนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ล้างจาน ซักผ้า ถูกพื้น เป็นต้น ได้อย่างไร้กังวล  

ถึงอย่างนั้นถังเก็บน้ำก็ยังคงเป็นอุปกรณ์ที่ใช้อำนวยความสะดวกเหมือนกับอุปกรณ์อื่นภายในบ้านของคุณ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อใช้ไปเวลานานก็อาจก่อให้เกิดปัญหาบางประการหรือตัวถังเกิดชำรุดได้เช่นกัน เพื่อให้คุณรับมือได้ทันท่วงที วันนี้ เราได้นำปัญหายอดฮิตที่มักเกิดขึ้นกับถังเก็บน้ำ รวมไปถึงวิธีแก้ไขมาฝากทุกคนกัน 

5 ปัญหายอดฮิตของถังเก็บน้ำ มีอะไรบ้างนะ ?

1.น้ำล้นถัง 

ปัญหาน้ำล้นถังนับว่าเป็นหนึ่งในปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่เลยทีเดียวเพราะหากคุณเพิกเฉยและปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดปัญหาถังบวมและถังแตกได้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นตั้งแต่หลังการติดตั้งหรือเมื่อใช้ไประยะเวลานาน ๆ โดยมักเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ 

1.1 ลูกลอยมีปัญหา : ลูกลอยในถังเก็บน้ำจะคอยหน้าทำหน้าเปิด-ปิดวาล์วน้ำแทนการใช้แรงคน เมื่อน้ำเต็มจนถึงระดับที่กำหนดลูกลอยก็จะทำหน้าที่ปิดกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าถังเก็บน้ำอัตโนมัติ แต่เมื่อไหร่ที่น้ำลดลงลูกลอยก็จะเปิดให้น้ำเข้ามาภายในถัง ดังนั้น หากลูกลอยเกิดชำรุดหรือเสื่อมสภาพก็อาจไม่สามารถควบคุมการเปิดและปิดน้ำได้ เป็นสาเหตุให้น้ำล้นถังนั่นเอง 


วิธีแก้ไขลูกลอยมีปัญหา 

  • ปิดวาล์วน้ำเพื่อไม่ให้น้ำประปาไหลเข้าถัง 
  • ถอดชุดลูกลอยเก่าออกโดยหมุนลูกลอยออกก่อน ตามด้วยการถอดก้านและหมุนถอดข้อต่อเกลียวของลูกลอยออก
  • นำชุดลูกลอยใหม่มาติดตั้งโดยเริ่มจากการนำเทปมาพันข้อต่อเกลียวเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมและหมุนต่อกับท่อน้ำ
  • นำก้านของลูกลอยต่อเข้ากับลูกลอยและมาหมุนให้เข้ากับข้อต่อเกลียว 

1.2 การติดตั้งถังเก็บน้ำผิดวิธี : ปัญหาน้ำล้นออกจากถังอาจเกิดขึ้นจากหลังการติดตั้งที่มีการติดตั้งผิดวิธี เช่น ต่อท่อเดินน้ำผิดรู ไม่ติดตั้งเช็กวาล์วที่เป็นอุปกรณ์ในการช่วยควบคุมทิศทางการไหลของน้ำให้ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหนทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้คือการเรียกช่างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบและทำการแก้ไข เพราะค่อนข้างมีวิธีการซ่อมที่ยุ่งยาก  


2.ถังเก็บน้ำรั่ว 

ถังเก็บน้ำรั่วมักเกิดขึ้นจากการเลือกถังเก็บน้ำไม่ได้มาตรฐานรวมถึงฐานวางถังเก็บน้ำไม่แข็งแรง เพราะการติดตั้งถังควรสร้างฐานที่ทำจากคอนกรีตเพื่อรองรับน้ำหนักถังเก็บน้ำได้เป็นอย่างดี เพื่อป้องกันการยุบตัวของพื้นหากนำไปวางกับพื้นดินโดยตรงส่งผลให้ถูกแรงกระแทกจากของหินใต้พื้นดินหรือถังเก็บน้ำล้มกระแทกกับพื้นอย่างรุนแรงเสี่ยงทำให้ถังแตกร้าว นำไปสู่น้ำรั่วซึมออกมา อีกทั้งยังทำให้สิ่งสกปรกเข้าสู่ถังเก็บน้ำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย 


วิธีแก้ไขถังเก็บน้ำรั่ว 

  • หากใครมีฝีมือในการช่างก็อาจซ่อมแซมถังน้ำได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีการปะถังที่เริ่มจากการเตรียมอุปกรณ์นั่นก็คือ ปืนเชื่อมพลาสติกและเส้นพลาสติก PVC หรือลวดพลาสติก  
  • นำลวดพลาสติกมาวางลงบนถังน้ำของเราพร้อมกับใช้ปืนเชื่อมพลาสติกเป่าลวดให้ละลายเพื่อปิดทับตามแนวรอยแตกของถังเก็บน้ำ 
  • ระหว่างที่ลวดพลาสติกละลายนั้นคุณสามารถนำช้อนหรือมีดที่เป็นโลหะมาเกลี่ยพลาสติที่ละลายให้กระจายตัวเพื่อปิดรูรั่วหรือรอยแตกให้สนิทมากที่สุดและปาดให้เรียบเนียน 

วิธีการแก้ไขข้างต้นในกรณีที่ถังเก็บน้ำรั่วนี้เหมาะสำหรับถังเก็บน้ำที่ทำจากพลาสติกและมีรอยแตก รอยร้าว และรูรั่วเล็กน้อย หากคุณไม่มีความชำนาญมากพอก็สามารถเรียกช่างซ่อมมาเร่งแก้ไขได้ แต่สำหรับรูรั่วขนาดใหญ่ รวมถึงถังเก็บน้ำที่ทำจากสเตนเลสอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนถังเก็บน้ำใหม่พร้อมกับสร้างฐานการวางถังเก็บน้ำที่แข็งแรง

3.คราบสกปรก 

คราปสกปรกในถังเก็บน้ำที่ว่านี้หมายถึงคราบตะกอนน้ำ คราบตะไคร่ ซึ่งเป็นอีกปัญหาที่หลายคนพบเจอเมื่อใช้เป็นเวลานานหรือติดตั้งในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น บริเวณที่แสงแดดส่องตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะถังเก็บน้ำที่ทำจากโพลิเมอร์ชนิดไม่ทึบแสง ดังนั้น คุณควรตรวจสอบถังน้ำเป็นประจำ หรือสังเกตว่ามีกลิ่นเหม็นหรือตะไคร่หลุดออกมาระหว่างใช้น้ำร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา


วิธีแก้ไขคราบสกปรก 

  • คุณสามารถแก้ไขได้ด้วยการทำความสะอาดเพื่อกำจัดคราบสกปรก โดยปิดวาล์วน้ำและเปิดจุกที่อยู่บริเวณด้านล่างถังออก เพื่อปล่อยน้ำที่ค้างในถังออกมา 
  • เมื่อน้ำไหลออกจนหมดแล้ว ตะกอนบางส่วนอาจตกค้างก้นถัง ซึ่งคุณควรใช้สายยางหรือเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดไล่ตะกอนหรือตะไคร่ออกให้หมด
  • นำจุกปิดถังน้ำมาทำความสะอาดและพันด้วยเทปพันท่อประปาประมาณ 2-3 รอบ ก่อนจะปิดจุกกลับเข้าที่เดิมให้สนิท
  • เปิดวาล์วน้ำให้ไหลลงถังเก็บน้ำเช่นเดิม การทำความสะอาดถังน้ำนั้นควรอย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน 

4.กลิ่นไม่พึงประสงค์ 

ในระหว่างที่คุณกำลังใช้น้ำในการล้างจาน ซักผ้า หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้วรู้สึกว่าน้ำมีกลิ่นเหม็นขึ้นจมูก ให้คุณพิจารณาได้เลยว่าน้ำภายในถังนั้นมีความผิดปกติบางอย่าง ที่มักเกิดจากการปิดฝาถังน้ำไม่สนิททำให้ฝุ่นละออง เชื้อโรค แมลงลงไปอยู่ภายในถัง หรืออาจเกิดจากเลือกถังเก็บน้ำที่ไม่ทำจากวัสดุไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการสะสมของตะไคร่น้ำที่เกิดจากแสงแดดส่องผ่านเข้ามายังตัวถังมากเกินไปและไม่ได้ทำความสะอาด 


วิธีแก้ไขปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ในถังเก็บน้ำ 

  • กรณีที่ฝาถังเก็บน้ำปิดไม่สนิทและมีตะไคร่ ให้คุณทำความสะอาดถังเก็บน้ำ เพื่อถ่ายน้ำเก่าและกำจัดกลิ่นด้วยการใช้น้ำยาทำความสะอาดทั่วไปเช่นน้ำยาล้างจาน หรือน้ำยาที่ไม่มีความเป็นกรดรุนแรง และทำการใช้แปรงยาวขัดทำความสะอาดกำจัดคราบและกลิ่นในถัง ก่อนจะล้างน้ำเปล่าให้สะอาดและทำการเปิดวาล์วน้ำให้เข้ามาในตัวถังดังเดิม 
  • กรณีที่ถังน้ำมีรูรั่ว รอยแตก ให้คุณปะถังเก็บน้ำและทำความสะอาดเก็บน้ำหรืออาจเปลี่ยนถังน้ำใหม่ 

5.ถังเก็บน้ำสีซีด 

สาเหตุที่ถังเก็บน้ำมีสีซีดกว่าครั้งแรกที่คุณติดตั้งอาจเป็นเพราะคุณตั้งถังน้ำไว้พื้นที่ที่แดดส่องแทบตลอดทั้งวัน จนทำให้ถังเก็บน้ำมีสีซีดจางลง นอกจากนี้ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาร่วมด้วย เช่น ตะไคร่น้ำ รอยแตกร้าว ถังน้ำหดตัวจนเกิดปัญหาการรั่วซึม ไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหว่าแค่แสงแดดจากพระอาทิตย์จะทำให้ถังเก็บน้ำของคุณเกิดปัญหาได้ขนาดนี้ 

วิธีแก้ไขปัญหาถังเก็บน้ำซีด 

  • ตรวจสอบร่องรอยของถังน้ำว่ามีการชำรุดเสียหายหรือไม่ เพื่อเร่งดำเนินการซ่อมแซมด้วยการปะถังเก็บน้ำหรืออาจจำเป็นต้องเปลี่ยนถังเก็บน้ำใหม่  
  • เคลื่อนย้ายถังเก็บน้ำพร้อมกับติดตั้งถังเก็บน้ำรวมถึงระบบการเดินประปาใหม่ในพื้นที่ที่ไม่โดนแสงแดดมาก เพื่อป้องกันสีถังเก็บน้ำซีดและลดการเสื่อมสภาพของถังเก็บน้ำ  

ช้อปปิ้งสินค้า ถังเก็บน้ำ ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กับไทวัสดุ 

สัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าเพื่อบ้านบนโลกออนไลน์ได้แล้ววันนี้กับ ไทวัสดุ ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย จำหน่าย ถังเก็บน้ำ สั่งง่าย สะดวกรวดเร็ว และสามารถเลือกรับสินค้าที่สาขาด้วยตนเอง หรือเลือกรับสินค้าที่บ้าน บริการจัดส่งทั่วประเทศ สั่งผ่านออนไลน์ได้ที่ thaiwatsadu.com หรือติดต่อผ่านช่องทาง Chat & Shop LINE @thaiwatsadu โทร. 1308