ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย ครบเรื่องบ้าน ถูกและดี
logo_mobile
search
เลือกสาขา
หน้าแรก
บทความ
รู้ก่อนซื้อ! อุปกรณ์สำหรับประตู-หน้าต่าง

รู้ก่อนซื้อ! อุปกรณ์สำหรับประตู-หน้าต่าง


อุปกรณ์ประตู

ประตูจะใช้งานได้ ไม่ได้มีแค่บานประตูเฉย ๆ แล้วจะเปิด-ปิดได้เลย แต่อุปกรณ์สำหรับประตู (Door Hardware) ก็เป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานควรรู้แม้เราจะไม่ได้เป็นคนติดตั้งประตูด้วยตัวเองก็ตาม โดยเครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องใช้งานร่วมกับประตูก็มีหลากหลายอุปกรณ์ ซึ่งการเลือกอุปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้งานจะต้องดูขนาด น้ำหนัก และวัสดุของบานประตู ว่าแต่อุปกรณ์ที่ใช้กับประตูจะมีอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีหน้าที่หรือฟังก์ชันอย่างไร วันนี้ไทวัสดุพาทุกคนมาทำความรู้จักไปพร้อมกัน 

อุปกรณ์ที่ใช้กับประตู

  • โช้กอัพ ใช้สำหรับชะลอเวลาเปิดปิดประตู และช่วยลดแรงกระแทก
  • ลูกบิด ก้านโยก มือจับ ใช้สำหรับล็อกประตูเพื่อความปลอดภัย
  • ฝาครอบลูกบิด ใช้สำหรับครอบลูกบิด และล็อกด้วยแม่กุญแจ เพื่อเสริมความปลอดภัย
  • บานพับ ใช้สำหรับยึดบานประตูกับวงกบ
  • กลอนประตู ใช้สำหรับล็อกเพื่อเสริมความปลอดภัย
  • ตาแมว ใช้เพื่อให้มองเห็นภายนอกห้อง ช่วยเสริมความปลอดภัย
  • สายยู ใช้สำหรับติดตั้งกับประตู แล้วคล้องกุญแจล็อก
  • แม่กุญแจ ใช้สำหรับล็อกเสริม เพื่อความปลอดภัย
  • กันชนประตู ใช้สำหรับกันลูกบิดหรือก้านโยกชนกับผนัง
  • ตะขอแขวน ใช้สำหรับแขวนหมวก เสื้อผ้า กระเป๋า
  • แถบกันแมลง ใช้สำหรับติดขอบประตูเพื่อป้องกันฝุ่นละออง แมลง สิ่งแปลกปลอม และป้องกันการสูญเสียความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ

รู้จักอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้งานร่วมกับประตูไปแล้ว เรามาเจาะรายละเอียดในแต่ละอุปกรณ์กันดีกว่าว่ามีข้อควรรู้อะไรบ้าง เพื่อให้คุณเลือกใช้งานได้ตอบโจทย์และเหมาะสมกับประตูในบ้านของคุณ

1. ลูกบิดและก้านโยก (Knob and Lever) 

ทั้งลูกบิดและก้านโยกมีหลักการทำงานเหมือนกันคือใช้สำหรับเปิด-ปิดประตู ต่างกันที่รูปแบบและดีไซน์
  • ลูกบิดทั่วไป จะกดล็อกจากด้านใน เปิดล็อกจากด้านนอกโดยใช้กุญแจ เหมาะสำหรับห้องทั่วไป
  • ลูกบิดหรือก้านโยกห้องน้ำ จะกดล็อกจากด้านใน เปิดล็อกจากด้านนอกโดยใช้เหรียญหรือไขควงในกรณีฉุกเฉิน เหมาะสำหรับห้องน้ำภายในที่อยู่อาศัย
  • ลูกบิดทางผ่าน ไม่สามารถล็อกได้ทั้งสองด้าน เหมาะสำหรับห้องเชื่อมทางเดิน หรือพื้นที่ส่วนกลาง
  • ลูกบิดหลบมุ้งลวด จะกดล็อกจากด้านใน เปิดล็อกจากด้านนอกโดยใช้กุญแจ ด้านในไม่มีหัวลูกบิด แต่มีห่วงหรือหางปลาเพื่อไม่ให้โดนมุ้งลวด เหมาะสำหรับห้องที่มีการติดตั้งมุ้งลวด 

2. มือจับ (Handle)

ใช้สำหรับจับเพื่อเปิด-ปิดประตู ซึ่งจะมีความแตกต่างเรื่องระบบการล็อกตามแต่ละประเภทของมือจับ 
  • มือจับมอร์ทิส มีเดือยล็อกที่ยาวกว่าลูกบิดทั่วไป มาพร้อมระบบล็อก 2 ชั้น สามารถล็อกแบบ 1 จังหวะ (บิดกุญแจ 1 ครั้ง) หรือ 2 จังหวะ (บิดกุญแจ 2 ครั้ง) เดือยจะออกมาสุดความยาวเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น เหมาะสำหรับประตูไม้
  • มือจับใหญ่ ด้านบนจะมีกุญแจลิ้นตายใช้สำหรับล็อก มีมือจับเพื่อใช้สำหรับดึงเปิด-ปิด เหมาะสำหรับประตูไม้
  • มือจับหลอก เป็นมือจับเพื่อใช้สำหรับดึงเปิด-ปิดเท่านั้น ไม่สามารถล็อกได้ ใช้ติดเสริมร่วมกับมือจับใหญ่ 

3. บานพับ (Door Hinge)

เป็นอุปกรณ์ใช้เป็นจุดรองรับของบานประตู หน้าที่ของมันคือเป็นตัวรองรับน้ำหนักของ บานประตูและถ่ายส่งไปที่วงกบ โดยประเภทของบานพับมีหลัก ๆ 3 ประเภท ได้แก่ บานพับไม่มีแหวน เหมาะสำหรับบานหน้าต่าง บานพับมีแหวน รับน้ำหนักประตูตั้งแต่ 35-45 กิโลกรัม และบานพับมีแหวนลูกปืน รับน้ำหนักประตูตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป ทีนี้จะเลือกขนาด ‘บานพับ’ อย่างไรให้เหมาะกับการใช้งาน เราขอฝากทริคง่าย ๆ ไว้ดังนี้ 
  • ขนาด 3 x 3 นิ้ว เหมาะสำหรับประตูน้ำหนักเบา เช่น ประตูพีวีซี ไม้อัด บานหน้าต่าง
  • ขนาด 4 x 3 นิ้ว เหมาะสำหรับประตูมาตรฐาน 80 x 200 ซม. บานประตูหนา 3 ซม.
  • ขนาด 4 x 4 นิ้ว หรือ 5 x 4 นิ้ว เหมาะสำหรับประตูเหล็ก ประตูไม้เนื้อแข็ง ขนาดใหญ่ตั้งแต่ 90 x 200 ซม. 100 x 200 ซม. 100 x 210 ซม. หรือหนามากกว่า 3.5 ซม.

4. โช้กอัพประตู (Door Closer)

ช่วยควบคุมประตูไม่ให้เปิดกระแทกแรงไปจนอุปกรณ์เกิดความเสียหาย หรือควบคุมให้ประตูที่เปิดสามารถปิดกลับเองได้ ทั้งยังช่วยในการติดตั้งประตูให้ขนานกับแนวพื้น จะมีหรือไม่มีระบบตั้งค้างก็ได้ และสามารถใช้กับประตูเปิดซ้ายหรือขวาได้ แล้วการเลือกโช้กอัพประตู เลือกอย่างไรให้เหมาะสม ดูง่าย ๆ ได้ตามนี้เลย
  • ใช้กับประตูขนาด 800 x 1,800 มม. ใช้กับประตูน้ำหนักไม่เกิน 30 กก.
  • ใช้กับประตูขนาด 900 x 2,100 มม. ใช้กับประตูน้ำหนักไม่เกิน 45 กก.
  • ใช้กับประตูขนาด 950 x 2,100 มม. ใช้กับประตูน้ำหนักไม่เกิน 65 กก.
  • ใช้กับประตูขนาด 1,050 x 2,400 มม. ใช้กับประตูน้ำหนักไม่เกิน 85 กก.
  • ใช้กับประตูขนาด 1,200 x 2,400 มม. ใช้กับประตูน้ำหนักไม่เกิน 120 กก.
  • ใช้กับประตูขนาด 1,800 x 2,700 มม. ใช้กับประตูน้ำหนักไม่เกิน 180 กก. 

5. กุญแจ (Key)

มีระบบการล็อกที่มีทั้งระบบสปริง คือการล็อกโดยใช้สลักภายใน ปิดล็อกโดยการกด เปิดล็อกโดยใช้กุญแจ และระบบลูกปืน ที่ล็อกโดยใช้ลูกปืนภายใน เปิด-ปิดล็อกโดยใช้กุญแจ ซึ่งมีความปลอดภัยกว่าระบบสปริง แล้วกุญแจมีกี่ประเภท แบบไหนเหมาะกับการใช้งานอย่างไร เราสรุปมาให้ดังนี้
  • กุญแจทั่วไป มีแม่กุญแจ 1 ตัว มีลูกกุญแจในชุด 3-4 ลูกที่ใช้เปิดล็อกได้ เหมาะสำหรับที่พักอาศัยทั่วไป
  • แม่กุญแจ Key-Alike มีแม่กุญแจหลายชุดในตัว มีลูกกุญแจที่ใช้เปิดล็อกได้ทุกตัวในชุด เหมาะสำหรับที่พักอาศัย หรือคลังสินค้าที่ควบคุมโดยคนเพียงคนเดียว
  • แม่กุญแจ Master Key มีแม่กุญแจหลายชุดในตัว มีลูกกุญแจเฉพาะที่เปิดล็อกแม่กุญแจแต่ละตัว แต่ไม่สามารถสลับไปเปิดตัวอื่นได้ และมีลูกกุญแจที่ใช้เปิดล็อกได้ทุกตัวในชุด เหมาะกับอาคารขนาดใหญ่ หน่วยงานที่ต้องแยกผู้ดูแลหลายคน แต่จะมีเพียงคนเดียวที่ถือลูกกุญแจที่เปิดล็อกได้ทุกตัว

6. กุญแจเสริมความปลอดภัย (Deadbolt)

หรือบางคนเรียกว่า “ลิ้นกุญแจ” ใช้เสริมการทำงานของลูกบิดหรือก้านโยกเพื่อเพิ่มความแข็งแรง หน้าตาของมันจะมีลักษณะกลมและนูนขึ้นมาจากบานประตู มีล็อกในตัวไม่ต้องใช้ไส้กุญแจ และทำงานแยกกับมือจับ เหมาะสำหรับประตูที่ต้องการความปลอดภัยสูง มีหลัก ๆ 2 ประเภท ได้แก่
  • แบบไขด้านเดียว จะบิดล็อกจากด้านใน และเปิดล็อกจากด้านนอกโดยใช้กุญแจ เหมาะสำหรับประตูบานทึบ
  • แบบไขสองด้าน ล็อกและเปิดล็อกจากทั้งด้านในและด้านนอกโดยใช้กุญแจ เหมาะกับประตูที่ประกอบด้วยกระจก ป้องกันการทุบกระจกจากด้านนอก แล้วยื่นมือเข้าไปเปิดล็อกจากด้านใน
นอกจากรู้จักประเภทและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้งานร่วมกับประตูแล้ว วัสดุที่ใช้ในการผลิตก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยทั่วไปแล้ววัสดุที่นิยมใช้การผลิตอุปกรณ์ประตูจะมีด้วยกันหลัก ๆ อยู่ 4 ชนิด ได้แก่ ซิงค์อัลลอย เหล็ก สเตนเลส และทองเหลือง ซึ่งแต่ละแบบก็มีความแข็งแรง รวมถึงความทนทานต่อสนิมและตะกรันแตกต่างกันไป อย่างซิงค์อัลลอยจะเด่นในเรื่องรูปทรงและลวดลายหลากหลาย แต่ความทนทานอาจจะน้อยกว่าวัสดุชนิดอื่น เหล็กให้ความแข็งแรงและราคาที่เอื้อมถึง สเตนเลสให้ความสวยงาม และทนต่อการกัดกร่อนได้ดี ส่วนทองเหลืองก็ให้ความสวยงาม ทนทานต่อการกัดกร่อน รวมถึงมีรูปทรงและลวดลายลากหลาย ต้องการแบบไหนสามารถขอคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญจากไทวัสดุได้เลย! 

อุปกรณ์หน้าต่าง

หน้าต่างและอุปกรณ์หน้าต่าง (Window Hardware) เป็นอุปกรณ์สำคัญที่บ้านพักอาศัยทุกรูปแบบควรมีติดตั้ง เพราะช่วยเติมเต็มคำว่าที่อยู่อาศัยให้ครบองค์ประกอบมากยิ่งขึ้น โดยหน้าต่างจะช่วยให้อากาศหมุนเวียน ช่วยระบายอากาศ ทำให้รู้สึกเย็นสบาย ปลอดโปร่ง และยังเป็นช่องทางให้แสงสว่างส่องเข้าไปภายในบ้านได้อีกด้วย โดยการเลือกหน้าต่างนั้นไม่ใช่แค่วัดขนาดพื้นที่ติดตั้ง แล้วจะพุ่งตัวไปซื้อบานหน้าต่างมาใช้งานได้เลย แต่เราจำเป็นต้องรู้จัก “อุปกรณ์ที่ใช้กับหน้าต่าง” เสียก่อน เพื่อที่จะได้รู้เท่าทันช่างติดตั้ง รวมถึงรู้จักการดูแลรักษา และซ่อมบำรุงในอนาคต

ส่วนประกอบหลักของหน้าต่าง

  • กลอนหน้าต่าง : ใช้ล็อกเพื่อความปลอดภัย ส่วนใหญ่ผลิตจากวัสดุเหล็กหรือสเตนเลส ซึ่งเหล็กจะให้ความทนทาน และราคาถูกกว่าสเตนเลส แต่อาจจะต้องทำการเปลี่ยนเมื่อเริ่มเกิดสนิม ส่วนสเตนเลสจะให้เรื่องความสวยงาม ไร้สนิม แต่จะมาพร้อมกับราคาที่สูงกว่าเหล็ก
  • บานพับ : ใช้ยึดบานหน้าต่างกับวงกบ เป็นอุปกรณ์ใช้เป็นจุดรองรับของบาน และเป็นตัวรองรับน้ำหนักของบานหน้าต่างในการถ่ายส่งไปที่วงกบ ซึ่งบานพับมีหลายประเภท เช่น บานกระทุ้ง บานเปิด บานเลื่อน บานยก บานเปิดตาย บานเฟี้ยม
  • บานพับหน้าต่าง หรือบานพับข้อศอก : เป็นบานพับอีกรูปแบบหนึ่ง ใช้สำหรับติดขอบบนและขอบล่าง
  • วงกบ : เป็นโครงสร้างของหน้าต่างที่ยึดติดถาวรอยู่กับผนัง มีลักษณะเป็นกรอบขนาดเท่ากับขนาดของบาน ส่วนมากเป็นวัสดุที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง อย่างไม้แดง ไม้สัก ปัจจุบันหลายคนก็นิยมหันมาใช้วัสดุชนิดอื่น เช่น ไวนิล อะลูมิเนียม เหล็ก สเตนเลส ไฟเบอร์ซีเมนต์ ฯลฯ เพราะดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องบวมพองเมื่อเผชิญความชื้นหรือสภาวะอากาศต่าง ๆ
  • กรอบ หรือบานกรอบ : นิยมใช้ไม้จริง เพราะจะมีความทนทาน สวยงาม และไม่บิดงอ รวมทั้งวัสดุประเภทอื่น เช่น กระจก อะลูมิเนียม
  • ตะขอเกี่ยว : ใช้เกี่ยวเพื่อเปิดหน้าต่างค้างไว้
  • มือจับเล็ก : ใช้สำหรับจับเพื่อเปิด-ปิด
  • ลูกฟัก : ปัจจุบันนิยมใช้วัสดุประเภทกระจก หรือใช้ไม้ รวมไปถึงพีวีซี ไม้เทียม อะลูมิเนียม พลาสติก และบานเกล็ด รวมทั้งกระเบื้องแผ่นเรียบ

ติดตั้งหน้าต่างอย่างไรให้เหมาะสม

การติดตั้งหน้าต่าง ไม่ใช่แค่เห็นผนังโล่ง ๆ แล้วจะติดตั้งหน้าต่างได้เลย แต่จำเป็นต้องสำรวจทิศทางของลม ซึ่งตำแหน่งของหน้าต่างควรอยู่ใต้แนวทิศเหนือ และทิศใต้เนื่องจากเป็นทางลม รวมไปถึงทิศตะวันออกและทิศตะวันตกก็ควรมีหน้าต่างไว้รับแสงแดดเช่นกัน แต่เนื่องจากทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นทางแสงผ่าน อาจจะต้องติดตั้งอุปกรณ์พรางแสง หรือกันแดดไว้ด้วย 

สำหรับขนาดหน้าต่างที่เหมาะสมคือ ขนาดประมาณกว้าง 60 ซม. ยาว 90 ซม. ถือเป็นขนาดมาตรฐานที่ห้างร้านหรือตามท้องตลาดวางขายกัน แต่ปัจจุบันก็มีหน้าต่างหลากหลายขนาดให้เลือกใช้งานตามความต้องการ รวมถึงพื้นที่ติดตั้ง หรือผนังบ้านอาคารของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน เราจึงเห็นขนาดหน้าต่างตามท้องตลาดมีหลากหลายไซซ์ และหลากหลายรูปแบบให้เลือกสรร ทั้งนี้ถ้าเราอยากติดตั้งหน้าต่างที่มีหน้าบานค่อนข้างใหญ่ ควรเลือกหน้าต่างแบบ 2 บาน ส่วนการติดตั้งวงกบ ควรให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงจากด้านล่างเกิน 2 เมตร เพียงเท่านี้เราก็จะมีหน้าต่างที่เหมาะกับบ้าน รวมถึงรู้จักอุปกรณ์หน้าต่างเพื่อเป็นความรู้ และประโยชน์ในการซ่อมแซม และดูแลรักษาหน้าต่างหากเกิดปัญหา หรือมีการชำรุดขึ้นมานั่นเอง

ช้อปปิ้งสินค้า อุปกรณ์ประตู อุปกรณ์หน้าต่าง ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กับไทวัสดุ

สัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าเพื่อบ้านบนโลกออนไลน์ได้แล้ววันนี้กับ ไทวัสดุ ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย จำหน่ายอุปกรณ์ประตู อุปกรณ์หน้าต่าง ไม่ว่าจะเป็นโช้กอัพ ลูกบิด ก้านโยก มือจับ ฝาครอบลูกบิด บานพับ กลอนประตู ตาแมว สายยู แม่กุญแจ กันชนประตู ตะขอแขวน แถบกันแมลง กลอนหน้าต่าง บานพับหน้าต่าง ตะขอ มือจับ ตอบโจทย์ทุกความต้องการ สั่งง่าย สะดวกรวดเร็ว เลือกรับสินค้าที่สาขาด้วยตนเอง หรือเลือกรับสินค้าที่บ้าน บริการจัดส่งทั่วประเทศ สั่งผ่านออนไลน์ได้ที่ thaiwatsadu.com หรือติดต่อผ่านช่องทาง Chat & Shop LINE @thaiwatsadu โทร. 1308