ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย ครบเรื่องบ้าน ถูกและดี
logo_mobile
search
เลือกสาขา
หน้าแรก
บทความ
“ สายไฟ ” อุปกรณ์นำส่งพลังงานไฟฟ้า มีกี่ประเภทกันนะ ?

“ สายไฟ ” อุปกรณ์นำส่งพลังงานไฟฟ้า มีกี่ประเภทกันนะ ? 


สายไฟ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำหน้าที่ในการนำส่งกระแสไฟฟ้าผ่านเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ใช้งานได้ตามปกติ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เพราะหากขาดพลังงานไฟฟ้าเหล่านี้ไป คงจะคิดภาพออกกันใช่ไหมครับว่าจะเพิ่มความลำบากให้แก่เรามากขนาดไหน ทั้งไม่มีแสงสว่าง อยู่ในสภาพอากาศร้อน และยังไม่สามารถใช้อุปกรณ์สื่อสารได้อีก 
แต่ถึงย่างนั้นไม่ใช่ว่าเราจะนำสายไฟแบบไหนมาใช้งานก็ได้ทั้งหมด เพราะค่ากระแสไฟฟ้ามีทั้งแบบระดับต่ำและระดับสูง ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่ต้องคำนึงถึงการเลือกประเภทสายไฟให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัยจากไฟฟ้าลัดวงจร สายไฟไหม้ เรามาดูกันดีกว่าว่าสายไฟมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทเหมาะกับการใช้งานแบบใด 

ทำความรู้จักกับส่วนประกอบสายไฟ 


1. ตัวนำไฟฟ้า  (Conductor) 

ทำหน้าที่ส่งกระแสไฟฟ้าหรือสัญญาณไฟฟ้าไหลผ่านได้ โดยส่วนใหญ่แล้วจะทำจาก เงิน ทองแดง และอะลูมิเนียม ที่มีค่าความต้านทานไฟฟ้าต่ำและมีค่าความนำไฟฟ้าสูง เรามาดูกันดีกว่าแต่ละวัสดุนั้นมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง  
  • เงิน : เป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดีที่สุด แต่อาจมีการกระจายของกระแสไฟที่ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะกับการนำไฟฟ้าในกระแสความถี่สูง และเนื่องจากเงินค่อนข้างมีราคาที่แพงจึงไม่นิยมนำมาทำเป็นตัวนำไฟฟ้าในสายไฟบ้านทั่วไป แต่จะนำไปใช้กับสายไฟสำหรับอุตสาหกรรมที่มีกระแสไฟฟ้าสูงมากกว่า 
  • ทองแดง : เป็นโลหะที่นิยมใช้กันมากที่สุดในการนำไฟฟ้า เพราะมีค่าการนำไฟฟ้าสูงเป็นอันดับสองรองจากเงิน อีกทั้งยังนำความร้อนได้ดี มีความแข็งแรงและดัดโค้งงอโดยไม่เปราะหักง่าย ส่วนใหญ่นิยมใช้กับงานไฟฟ้าที่ต้องติดตั้งภายในอาคาร บ้านเรือนและใต้ดิน  
  • อะลูมิเนียม :  มีค่าการนำไฟฟ้าต่ำกว่าทองแดง มีราคาถูก แต่จะเปราะหักง่ายกว่า  เหมาะสำหรับทำเป็นตัวนำของสายไฟฟ้าบนเสาไฟฟ้าเหนือพื้นดินที่ต้องเดินสายเป็นระยะทางไกล 

2. ฉนวน (Insulation) 

ฉนวน ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่าน โดยวัสดุที่ใช้ทำฉนวนส่วนใหญ่จะผลิตจากพลาสติกโพลีเมอร์หรือยางที่มีคุณสมบัติทนความร้อน เช่น โพลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC) ป้องกันของเหลวไหลผ่านไปยังส่วนที่ก่อให้เกิดอันตราย ลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาไฟรั่วและไฟฟ้าลัดวงจร 

3. เปลือกนอก (Sheath) 

เปลือกนอก ทำจากพลาสติกโพลิเมอร์ซึ่งจะอยู่ชั้นนอกสุดของสายไฟฟ้าหรือสายไฟที่เราจับกันนั่นเอง ทำหน้าที่ป้องกันความเสียหายให้กับสายไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็น การขูดขีด การถูกกดทับ สภาพอากาศ และการกัดกร่อนจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ 

ประเภทของ “ สายไฟ ”  รู้ไว้ไม่เสียหาย 

เพื่อให้ทุกคนเข้าใจได้ง่ายขึ้น เราจะขอแบ่งประเภทสายไฟออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 

1. สายไฟแรงดันต่ำ 

เป็นสายไฟที่ส่วนใหญ่ทำจากทองแดงหรืออะลูมิเนียม และเป็นสายไฟที่จะนำไปใช้กับแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 750 โวลต์ ลักษณะของสายไฟนั้นหากขนาดเล็กจะเป็นสายตัวนำเดี่ยวและสายขนาดใหญ่จะเป็นตัวนำตีเกลียว สายไฟแรงดันต่ำประเภทนี้ มีอยู่ 5 ชนิดด้วยกันที่ผู้คนนิยมใช้ ได้แก่ 


  • สายไฟชนิด VAF : เป็นสายไฟชนิดที่มีความนิยมอย่างมากในประเทศไทยที่ใช้กับบ้านเรือนทั่วไป โดยที่แต่ละสายก็จะมีฉนวนหุ้ม และมีเปลือกหุ้มฉนวนอีกชั้นหนึ่งด้านนอก สามารถทนแรงดันได้ 300 โวลต์ มีให้เลือกใช้ทั้งแบบสายไฟเดี่ยว สายไฟคู่ และแบบสายดินอยู่ด้วย 2 แกน และ 3 แกน แต่จะใช้ได้กับระบบ 1 เฟสเท่านั้น ห้ามนำไปใช้กับระบบไฟฟ้า 3 เฟส เนื่องจากมี 380 โวลต์ ซึ่งเกินกว่าสายไฟชนิดนี้จะรับแรงดันได้ มีลักษณะการใช้งานแบบเดินสายเกาะผนัง เดินในช่องเดินสายในสถานที่แห้ง และห้ามเดินฝังดินโดยตรง
  • สายไฟชนิด THW :  เป็นสายไฟที่สามารถทนแรงดันได้ 750 โวลต์ มีแกนสายเป็นตัวนำทองแดงหลายร้อยเส้นมาทำเป็นสายใหญ่หนึ่งแกน ได้รับความนิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากใช้วงจรไฟฟ้า 3 เฟส และควรใช้งานในรูปแบบเดินลอยด้วยตัวยึดทำจากวัสดุฉนวน เดินในช่องเดินสาย หรือเดินในท่อฝังดินเพื่อป้องกันน้ำซึมเข้าสู่ท่อ และไม่ควรฝังดินโดยตรง
  • สายไฟชนิด VCT : สายไฟฟ้าชนิดนี้คือจะเป็นสายที่ประกอบด้วยสายทองแดงฝอยเส้นเล็ก ๆ จึงทำให้มีความอ่อนตัวและทนต่อการสั่นสะเทือน สามารถทนแรงดันได้ 750 โวลต์ มีให้เลือกใช้ทั้งแบบ 1 แกน 2 แกน 3 แกน และ 4 แกน เหมาะสำหรับใช้เป็นสายเดินเข้าเครื่องจักรที่มีการสั่นสะเทือนขณะใช้งาน ในการติดตั้งสายไฟนั้นเป็นการติดตั้งแบบทั่วไป และยังสามารถเดินร้อยท่อฝังดิน หรือฝังดินโดยตรงได้
  • สายไฟชนิด NYY : เป็นสายไฟฟ้าชนิดกลมที่นิยมใช้อย่างกว้างขวาง สามารถทนแรงดันไฟฟ้าได้ 750 โวลต์ เพราะเป็นสายที่มีเปลือกหุ้มอีกชั้น จึงช่วยป้องกันความเสียหายทางกายภาพได้ดี โดยควรติดตั้งแบบเดินร้อยท่อฝังดินหรือเดินฝังโดยตรง 
  • สายไฟ VKF : มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ แบบแรงดันต่ำที่สามารถรองรับแรงดันไฟฟ้าได้ 300 โวลต์ และแบบแรงดันสูงที่สามารถรองรับแรงดันไฟฟ้าได้ 750 โวลต์  เป็นสายไฟที่มีฉนวนสองชั้น มีความปลอดภัยสูง กันน้ำได้ ทำให้นำไปใช้งานได้ทั้งพื้นที่แห้ง พื้นที่เปียกและชื้น (แต่ต้องไม่แช่น้ำ โดนน้ำและสัมผัสกับความชื้นเป็นประจำ)  

2. สายไฟแรงดันสูง 

เป็นสายไฟฟ้าชนิดตีเกลียวที่มีขนาดใหญ่ โดยจะมีสายแบบเปลือยและหุ้มฉนวน สามารถรับแรงดันได้ตั้งแต่ 1-36 กิโลโวลต์ (Kilovol : KV) สายไฟแรงดันสูงประเภทนี้ มีอยู่ 4 ชนิดด้วยกันที่ผู้คนนิยมใช้ ได้แก่ 

  • สายไฟฟ้าอะลูมิเนียมตีเกลียวชนิดเปลือย (AAC) : เป็นสายที่ใช้ตัวนำเป็นอะลูมิเนียมพันที่ตีเกลียวเป็นชั้น ๆ สายชนิดนี้สามารถรับแรงดันได้ต่ำไม่เกิน 132 KV จึงไม่สามารถขึงสายกับเสาที่มีระยะห่างไม่เกิน 50 เมตร ยกเว้นสายที่มีขนาดความหนา 95 มิลลิเมตร ขึ้นไป ที่อาจขึงได้ถึง 100 เมตร
  • สายไฟฟ้าอะลูมิเนียมชนิดแกนเหล็ก (ACSR) : คือ สายไฟที่ใช้อะลูมิเนียมตีเกลียวเป็นตัวนำ และมีสายเหล็กอยู่ตรงกลาง สามารถรับแรงดันได้สูงกว่า 132 KV ที่ส่งผลให้รับแรงดึงและขยายระยะห่างระหว่างเสาในการขึงได้เพิ่มขึ้น แต่สายไฟชนิดนี้ก็อาจมีข้อเสียเล็กน้อยตรงที่ไม่อาจทนต่อการกัดกร่อนของไอเกลือ ดังนั้น จึงไม่ควรนำไปใช้งานบริเวณชายทะเล
  • สาย Space Aerial Cable (SAC) : เป็นสายไฟที่สามารถรับแรงดันได้ไม่เกิน 35 KV. มีอะลูมิเนียมตีเกลียวเป็นตัวนำและหุ้มด้วยฉนวน XLPE และมีเปลือกหุ้มอีกชั้นหนึ่ง เพื่อเพิ่มความทนทาน แต่ถึงแม้ว่าจะหุ้มเปลือกแล้ว ก็ไม่ควรสัมผัสสายไฟโดยตรงเช่นกัน เพราะอาจก่อให้เกิดอันตราย
  • สาย Preassembiy Aerial Cable (PAC) : เป็นสายไฟที่มีตัวนำเป็นอะลูมิเนียม มีความทนทานอย่างมาก และสามารถเดินสายผ่านอาคารที่มีคนอาศัยอยู่ หรือวางพาดไปกับมุมตึกได้ 

ช้อปปิ้งสินค้า สายไฟ ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กับไทวัสดุ 

สัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าเพื่อบ้านบนโลกออนไลน์ได้แล้ววันนี้กับ ไทวัสดุ ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย จำหน่าย สายไฟ หลากรูปแบบ สั่งง่าย สะดวกรวดเร็ว และสามารถเลือกรับสินค้าที่สาขาด้วยตนเอง หรือเลือกรับสินค้าที่บ้าน บริการจัดส่งทั่วประเทศ สั่งผ่านออนไลน์ได้ที่ thaiwatsadu.com หรือติดต่อผ่านช่องทาง Chat & Shop LINE @thaiwatsadu โทร. 1308