ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย ครบเรื่องบ้าน ถูกและดี
logo_mobile
search
เลือกสาขา
หน้าแรก
บทความ
เลือกน้ำยาและวัสดุเคมีภัณฑ์อย่างไร ให้จบทุกปัญหาหน้างาน

เลือกน้ำยาและวัสดุเคมีภัณฑ์อย่างไร ให้จบทุกปัญหาหน้างาน


น้ำยาทาและอุดคอนกรีต

ในการก่อสร่างสร้างบ้าน และต่อเติมซ่อมแซมผนังต่าง ๆ ขั้นตอนที่ขาดไปไม่ได้เลยคือการแก้ไขความเสื่อมสภาพให้กลับมาดูดีขึ้น เพื่อทำให้พื้นผิวคอนกรีตนั้น ๆ พร้อมใช้งานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง ซึ่งตัวช่วยที่เข้ามาจัดการปัญหาไม่ว่าจะเป็นคราบสกปรกบนผนังคอนกรีต เชื้อราและตะไคร่น้ำ ตลอดจนรอยรั่วต่าง ๆ ก็คือ “น้ำยาเฉพาะทาง” ที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานั้นโดยเฉพาะ อีกทั้งคอนกรีตเป็นวัสดุที่ต้องเจอแดด ลม ฝน ความชื้น รวมถึงสภาวะอากาศต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การใช้น้ำยาเฉพาะทาง และวัสดุเฉพาะทางจึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการดูแลรักษาพื้นผิวคอนกรีตให้แข็งแรงและอยู่คู่คุณไปนานแสนนาน

น้ำยาเฉพาะทางที่กล่าวมาจะมีอะไรบ้าง

  1. น้ำยาเคลือบผิวกันน้ำ
    • ช่วยป้องกันน้ำ และลดการฝังตัวของคราบสกปรกบนผนังคอนกรีต รวมถึงวัสดุอื่น ๆ
    • ช่วยเคลือบปกป้องพื้นผิวเพื่อให้สามารถทนทานต่อทุกสภาพอากาศ
    • เมื่อทาแล้วตัวน้ำยาจะเข้าไปอุดรูพรุนในเนื้อคอนกรีต ทำหน้าที่เป็นฟิล์มบาง ๆ เคลือบบนผิวคอนกรีต
    • ช่วยให้คอนกรีตมีคุณสมบัติทึบน้ำ แต่ไม่ปิดกั้นการถ่ายเทความร้อนผ่านผิวคอนกรีต
    • สามารถใช้งานได้ทันทีไม่ต้องมีส่วนผสม หรือผสมน้ำยาอื่น ๆ ให้ยุ่งยาก
    • สามารถใช้งานได้ทั้งภายใน และงานภายนอกอาคาร 
  2. น้ำยาป้องกันเชื้อราและตะไคร่น้ำ
    • ใช้กำจัดและยับยั้งการเกิดเชื้อรา ตะไคร่บนผิวอิฐ หินล้าง หินทรายโชว์อย่างมีประสิทธิภาพ
    • เชื้อราและตะไคร่น้ำเป็นตัวทำลายความสวยงามของบ้าน และเป็นแหล่งสะสมของสิ่งสกปรก จึงจำเป็นเป็นต้องมีการเคลือบน้ำยาป้องกันเชื้อรา และตะไคร่น้ำ
    • ไม่กัดกร่อนไม่ทำลายพื้นผิว เนื่องจากไม่มีส่วนผสมของกรด ด่าง และสารทำละลาย
    • สามารถทาสีทับได้ ใช้ได้ทั้งงานภายในและภายนอกอาคารทั้งพื้นและผนัง
    • ใช้ได้หลากหลายพื้นผิว ไม่ว่าจะเป็นคอนกรีต อิฐ ปูนฉาบ ปูนขัดมัน กระเบื้อง ไม้ ฯลฯ 
นอกจากน้ำยาเฉพาะทาง อันที่จริงมีตัวช่วยสำคัญสำหรับการอุดรอยรั่วนั่นก็คือ ปลั๊กอุดน้ำ หรือที่หลายคนเรียกว่า “ซีเมนต์ปลั๊ก” หรือ “ซีเมนต์อุดรอยรั่วซึม” เป็นซีเมนต์อุดรอยรั่วผสมเสร็จที่สามารถทำปฏิกิริยาในน้ำได้ เนื่องจากซีเมนต์เป็นหัวใจสำคัญของการก่อสร้างและซ่อมแซม ส่วนการใช้งานก็เพียงแค่ผสมน้ำตามอัตราส่วนที่ผลิตภัณฑ์กำหนด ก็สามารถนำไปใช้งานได้อย่างง่ายดาย เรียกได้ว่าช่วยซ่อมรอยรั่วในชั่วโมงเร่งด่วนได้เป็นอย่างดี

คุณสมบัติเพิ่มเติมของปลั๊กอุดน้ำ

  • ปลั๊กอุดน้ำ ประเภทซีเมนต์แห้งเร็ว ใช้สำหรับอุดรอยรั่วซึมสำหรับงานคอนกรีต เมื่อนำไปอุดรอยรั่ว จะแข็งตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมประสานและอุดพื้นผิวงาน
  • สามารถใช้งานได้ขณะน้ำไหล แห้งไวภายในไม่กี่นาที ทำให้งานเสร็จไว สะดวกในการใช้งาน
  • เป็นผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้ในงานซ่อมรอยรั่วคอนกรีตในสภาวะที่รับแรงดันน้ำ หรือรอยรอยรั่วที่มีน้ำซึมตลอดเวลา เพื่อปิดกั้นการไหลของน้ำได้เป็นอย่างดี
  • มีคุณสมบัติคงทนถาวร ไม่สึกกร่อน หรือเสื่อมคุณสมบัติ
  • สามารถใช้ได้กับบริเวณที่มีน้ำไหลผ่าน แท็งก์น้ำ สระว่ายน้ำ โครงสร้างใต้ดิน รอยต่อพื้นและผนัง ฯลฯ
  • สามารถใช้เป็นมอร์ต้าเพื่อยึดประสานกับเหล็ก เสา และเหล็กเดือยได้สะดวก
  • สามารถใช้ซ่อมพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสได้
  • ตามท้องตลาดมีหลากหลายแบรนด์ให้เลือกตามความต้องการ

น้ำยาผสมคอนกรีต

ทำไมเราถึงต้องใช้ “น้ำยาผสมคอนกรีต” คำตอบง่าย ๆ เลยก็เพราะคอนกรีตเป็นวัสดุก่อสร้างที่ใช้กันมากที่สุด ความคงทนของคอนกรีตจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะมันมีผลต่อการใช้ชีวิต และความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยในอาคาร รวมถึงคนภายนอกอาคารโดยรอบ ซึ่งน้ำยาผสมคอนกรีต หรือ Concrete Admixture เป็นสารเคมีผสมที่เพิ่มคุณสมบัติให้คอนกรีตมีความทนทาน และมีอายุการใช้งานยาวขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการก่อสร้างและการใช้งานอีกด้วย

และอีกเหตุผลที่เราต้องใช้น้ำยาผสมคอนกรีต ก็เพราะเดี๋ยวนี้แต่ละแบรนด์มีเทคโนโลยีที่สามารถผลิตคอนกรีตได้ปริมาณมากภายในเวลาอันสั้น แถมยังได้คุณภาพและมาตรฐานมากกว่าการผสมคอนกรีตหน้างานแบบเดิม ๆ ที่เราเคยเห็นช่างก่อสร้างผสมทราย หิน น้ำเข้าด้วยกัน กว่าจะเข้าที่ก็ใช้เวลาและเสียทรัพยาการไปมาก เมื่อมีปูนที่ดีแล้ว แต่ละเจ้าก็เลยผลิตน้ำยาผสมคอนกรีตออกมาเพื่อช่วยให้การก่อสร้าง และการผสมปูนเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ซึ่งสารที่ใช้ในน้ำยาผสมคอนกรีต ก็มีคุณสมบัติหลากหลายประเภทตามลักษณะงาน และตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันไป

สารในน้ำยาผสมคอนกรีตมีอะไรบ้าง

  1. สารลดน้ำ (Water Reducers) ใช้ลดน้ำในส่วนผสมคอนกรีต โดยที่ยังได้ค่ายุบตัวเท่าเดิม ทำให้คอนกรีตมีกำลังอัดเพิ่มขึ้น และได้รับค่ายุบตัวที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงส่วนผสมและไม่ต้องเพิ่มน้ำอีก เมื่อเติมสารนี้ในส่วนผสมคอนกรีตจะสามารถลดปริมาณน้ำที่ใช้ผสม โดยได้ค่ายุบตัวตามต้องการ และคอนกรีตที่ใส่สารลดน้ำจะให้ค่ากำลังอัดสูงกว่าคอนกรีตทั่วไป
  2. สารลดน้ำจำนวนมาก (High Range Water-Reducers) เป็นน้ำยาลดน้ำพิเศษ มีทั้งฐานลิกโนซัลโฟเนต และโพลีคาร์บอกซิลิกเอสเตอร์ สามารถลดน้ำที่ใช้ในส่วนผสมคอนกรีตลงได้ถึง 12-25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะใช้เพื่อเพิ่มกำลังอัดของคอนกรีต และใช้ลดการซึมผ่านของน้ำในคอนกรีต อีกทั้งยังใช้ในการผลิตคอนกรีตที่มีความสามารถในการไหลเข้าแบบง่าย เนื่องจากสามารถเพิ่มค่ายุบตัวจำนวนมากให้กับคอนกรีตได้ ไม่ต้องมีการเพิ่มน้ำ
  3. สารกักกระจายฟองอากาศ (Air-Entraining Admixture) เป็นสารเคมีแบบน้ำที่ใส่ระหว่างการผสมคอนกรีต มันจะช่วยสร้างฟองอากาศจิ๋ว ๆ แผ่ปนอยู่ทั่วเนื้อคอนกรีต ซึ่งช่วยให้คอนกรีตเทได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้คอนกรีตมีความทนทานต่อสภาวะที่น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง และละลายสลับกัน รวมถึงเกลือที่ใช้ละลายน้ำแข็ง โดยเมื่อคอนกรีตยังอยู่ในสภาวะพลาสติก ทั้งยังช่วยลดการเยิ้มน้ำ และการแยกตัวได้ดีอีกด้วย
  4. สารเร่งการก่อตัว (Accelerators) เป็นน้ำยาที่ลดระยะเวลาการก่อตัวของคอนกรีตให้สั้นลงและช่วยเร่งกำลังอัดช่วงต้นให้สูงขึ้น นิยมใช้ในการเทคอนกรีตที่อุณหภูมิต่ำมากเพื่อเร่งการแข็งตัว และป้องกันความเสียหายจากการแข็งตัวของน้ำในส่วนผสมคอนกรีต จึงเหมาะกับงานที่ระยะเวลาการทำงานสั้น อย่างพวกงานซ่อมแซม แก้ไขพื้นผิวจราจร งานหล่อชิ้นส่วนคอนกรีต เป็นต้น
  5. สารหน่วงการก่อตัว (Retarders) เป็นสารเคมีที่ใช้สำหรับหน่วงเวลาการแข็งตัวของคอนกรีตในงานที่ต้องเทท่ามกลางอากาศร้อน ซึ่งอุณหภูมิที่สูงจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาไฮเดรชันให้เกิดเร็วขึ้น พูดง่าย ๆ คือเมื่อปูนเจออากาศร้อนก็จะแข็งตัวเร็ว เจ้าสารตัวนี้เลยเข้ามาช่วยให้ปูนแข็งตัวช้าขึ้น จึงมักนำมาใช้กับโปรเจกต์โครงสร้างใหญ่ ๆ เพื่อหน่วงระยะเวลาการก่อตัวที่เร็วเกินไป และเพื่อยืดระยะเวลาการเท รวมถึงการแต่งผิวหน้าคอนกรีตออกไปนั่นเอง

ซื้อน้ำยาผสมคอนกรีตกับไทวัสดุ

  • น้ำยาผสมคอนกรีตกันซึม - เป็นน้ำยาที่ผสมในเนื้อคอนกรีตแล้วช่วยทำให้ลดการใช้น้ำในคอนกรีต ทำให้คอนกรีตลดฟองอากาศ และลดรูพรุนที่เกิดจากการระเหยของน้ำที่ใช้ในการผสมคอนกรีตขณะที่คอนกรีตกำลังเซตตัว ทำให้คอนกรีตมีเนื้อทึบ และมีความแน่นแข็งแรงทนต่อการกัดกร่อน รวมถึงง่ายต่อการเทคอนกรีตลงแบบและจี้คอนกรีต
  • น้ำยาประสานคอนกรีต - ช่วยเพิ่มกำลังประสานชั้นระหว่างปูนใหม่และปูนเก่า หรือพูดง่าย ๆ ว่าช่วยเชื่อมคอนกรีตเก่าและคอนกรีตใหม่ไม่ให้แยกตัวออกจากกัน ทั้งยังช่วยเสริมแรงยึดเกาะไม่ให้คอนกรีตใหม่ร่อนออกมาหลังจากเซ็ตตัวจนแห้ง บางครั้งจะเรียกว่าเป็นน้ำยาประสานปูน หรือน้ำยาประสานปูนเก่ากับปูนใหม่ก็ได้
  • น้ำยาบ่มคอนกรีต - ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำในคอนกรีตระเหยเร็วเกินไป ทำให้คอนกรีตมีกำลังแข็งแกร่งขึ้น ช่วยให้คอนกรีตเกิดการพัฒนากำลังในตัวมันเองได้สมบูรณ์แบบ ซึ่งการไม่บ่มคอนกรีต จะทำให้ความแข็งแรงของคอนกรีตลดลง

เทปปิดรอยต่อ

การซ่อมแซมแก้ไขบ้านไม่ว่าจะส่วนใดก็ตาม ล้วนจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะจุด แม้แต่ปัญหาหลังคารั่ว ก็จำเป็นต้องใช้ “เทปปิดรอยต่อ” เพื่อให้กระเบื้องหลังคากลับมาใช้งานได้ดีดังเดิม เนื่องจากเทปปิดรอยต่อ เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติเหนียวแน่น ทนทาน และยืดหยุ่นสูง ซึ่งการใช้เทปปิดรอยไม่ได้จำกัดแค่หลังคาเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ได้กับปัญหารั่วซึมบริเวณรางน้ำตะเข้ รั่วซึมตามรอยแตกของปูนยึดครอบ ตลอดจนรั่วซึมตามรอยแตกของกระเบื้องหลังคา

รู้จักเทปปิดรอยให้มากขึ้น

  • เทปปิดรอยต่อ หรือแผ่นปิดรอยต่อหลังคา ใช้สำหรับปิดบริเวณรอยต่อ หรือในส่วนที่มีรอยรั่วบนหลังคา ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำไหลลงมาทำความเสียหายภายในตัวบ้าน
  • เทปปิดรอยต่อมีคุณสมบัติทนทานต่อรังสี UV ทำให้มีประโยชน์ในการควบคุมสภาพอากาศภายในบ้านไม่ให้ร้อนจนเกินไป
  • เทปปิดรอยต่อสามารถทนต่อสภาพอากาศที่รุนแรง ทนร้อน-เย็นได้ดี ไม่กรอบแตกง่าย
  • เทปปิดรอยต่อสามารถใช้ปิดรอยต่อหลังคากระเบื้อง กันสาด รางน้ำฝน ปล่องควัน ท่อระบายอากาศ ระเบียงบ้าน รวมถึงหน้าต่าง ประตู หรือจุดต่าง ๆ ที่มีรอยรั่ว
  • เทปปิดรอยต่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะการซ่อมหลังคานั้นใช้งบประมาณสูง หากเราใช้เทปปิดรอยต่อหลังคาอย่างน้อยก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมได้
  • เทปปิดรอยต่อช่วยยืดอายุหลังคา หลังคาของบ้านเดี๋ยวนี้จะมีอายุเฉลี่ยราว 15-40 ปี ถ้าหากเรามีการดูแลหลังคาด้วยการใช้เทปปิดรอยต่อเมื่อหลังคามีการชำรุด ก็อาจช่วยยืดอายุไปได้มากกว่านั้นอย่างแน่นอน 

เลือกเทปปิดรอยต่อหลังคายังไงให้ตอบโจทย์

  • ต้องป้องกันรังสี UV ถือเป็นเช็กลิสต์สำคัญเลย เพราะหลังคาเป็นส่วนที่ต้องโดนแดด และเผชิญความร้อนอยู่ตลอด หากเทปปิดรอยต่อไม่มีคุณสมบัติกันรังสี UV ประสิทธิภาพก็จะเสื่อมได้ไว สุดท้ายปัญหาน้ำรั่วซึมก็กลับมาดังเดิม
  • ต้องกันน้ำและทนต่อความหนาวเย็น เทปปิดรอยต่อส่วนใหญ่มีคุณสมบัติกันการรั่วซึมของน้ำอยู่แล้ว แต่เรื่องความหนาวเย็นก็ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะอากาศหนาวเย็นมักมาพร้อมความชื้น หากเทปปิดรอยไม่ทนต่ออุณหภูมิต่ำ ประสิทธิภาพก็อาจเสื่อมเร็วกว่าเดิม
  • เลือกวัสดุให้ตอบโจทย์การใช้งาน ส่วนใหญ่เทปปิดรอยต่อผลิตมาจากบิทูเมน มีลักษณะเหนียว และมีความหนืดสูง ป้องกันการรั่วซึมได้ดี มีราคาที่ค่อนข้างถูก แต่ข้อเสียคือเมื่อติดแล้วจะแห้งทันที ทำให้ยากต่อการปรับตำแหน่ง ส่วนวัสดุบิวทิลจะมาในรูปแบบเนื้อยาง มีข้อดีตรงที่แกะและปรับตำแหน่งของเทปได้ แถมยังทาสีทับได้อีกด้วย แต่อาจจะทนทานไม่สู้เทปตัวอื่น สุดท้ายคืออะคริลิก เป็นวัสดุที่ถือว่าคุณภาพดีสุด เพราะทนต่ออุณหภูมิสูง และติดได้อย่างแน่นหนา มีแรงยึดเกาะดีเยี่ยม
  • ต้องเลือกให้เหมาะกับพื้นผิว เทปปิดรอยแต่ละรุ่น แต่ละแบรนด์ มีหลายเกรด หลายคุณภาพ โดยทั่วไปจะระบุไว้เสมอว่าเหมาะกับการนำไปติดซ่อมแซมบนพื้นผิวชนิดใด เช่น ไม้ คอนกรีต สังกะสี พลาสติก กระเบื้อง ซึ่งเราควรเลือกให้เหมาะกับวัสดุพื้นผิวนั้นเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน
  • เข้าใจการติดตั้งหรือใช้งาน หน้าตาของเทปหรือแผ่นปิดรอยต่อหลังคาจะไม่ต่างจากเทปทั่วไป สามารถตัดแปะตามรอยรั่วที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย แต่เทปปิดรอยต่อบางรุ่นก็ต้องใช้เทคนิคพิเศษในการแปะติด จึงจำเป็นต้องตรวจเช็กการใช้งาน หรือดูรายละเอียดบนผลิตภัณฑ์ให้ดี 

กาวอีพ๊อกซี่ (Epoxy)

กาวสารพัดประโยชน์สำหรับการซ่อมแซ่มอาคารบ้านเรือน เป็นไอเทมที่ควรมีติดบ้านไว้ และเป็นอุปกรณ์คู่ใจสำหรับงานช่าง จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “กาวอีพ๊อกซี่” (Epoxy) โดยเจ้ากาวตัวนี้จะใช้สำหรับปะติด อุด เชื่อม ประสานยาแนว ผนึกรอยร้าว สามารถใช้กับวัสดุได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นเหล็ก อะลูมิเนียม คอนกรีต ไม้ หิน พลาสติก แก้ว ฯลฯ แต่เห็นคุณสมบัติอันแสนดีงามและประโยชน์มากมายของมันแล้ว การใช้งานกาวอีพ๊อกซี่ก็มีเรื่องที่ควรระมัดระวังเช่นกัน แต่ก่อนจะไปลงรายละเอียดถึงตรงนั้น เรามาทำความรู้จักกาวอีพ๊อกซี่ให้มากขึ้นกันก่อนดีกว่า

ทำความรู้จักกาวอีพ๊อกซี่ให้มากขึ้น

  • กาวอีพ๊อกซี่เป็นกาวสำหรับงานที่ต้องการการยึดเกาะเป็นพิเศษ จึงมีการนำมาใช้งานกับงานช่างกันโดยส่วนใหญ่
  • กาวอีพ๊อกซี่เป็นกาวที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คืออีพอกซีเรซินและสารชุบแข็ง ซึ่งสารทั้งสองจะแยกมากันคนละหลอด หรือคนละถังกัน
  • กาวอีพ๊อกซี่จะใช้งานได้นั้นจะต้องผสมทั้งสารทั้งสองชนิดเข้าด้วยกันก่อน โดยเราสามารถทำการผสมได้โดยใช้กระบอกหัวจ่ายคู่โดยคงอัตราส่วนผสมไว้ที่ 1:1 เพื่อให้กาวเชื่อมกัน
  • กาวอีพ็อกซี่สามารถนำไปติด อุด ปะ และยึดติดกับวัสดุได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นไฟเบอร์กลาส ท่อเหล็ก ไม้ ซีเมนต์ โลหะ พลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ยังเหมาะกับงาน DIY อีกด้วย
  • กาวอีพ๊อกซี่สามารถขัด เจาะ และทาสีได้ ทำให้ใช้งานได้หลากหลายกว่ากาวโดยทั่วไป
  • กาวอีพ๊อกซี่จะเริ่มทำงานตั้งแต่นาทีแรก ๆ ซึ่งเราควรทิ้งกาวไว้หลายชั่วโมงเพื่อให้กาวแข็งตัวสูงสุด ทั้งนี้ควรอ่านรายละเอียดบนผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด

หากจะแบ่งประเภทของกาวอีพ๊อกซี่ เราสามารถแบ่งตามวัตถุประสงค์และการใช้งานได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ กลุ่มกาวอีพ๊อกซี่ปะเหล็กหรือติดทั่วไป กับ กลุ่มกาวอีพ๊อกซี่สำหรับเสียบเหล็ก โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. กลุ่มอีพ๊อกซี่ปะเหล็กและติดทั่วไป
    • ใช้ปะติดซ่อมแซมวัสดุหลากหลายชนิด เช่น ท่อเหล็ก ท่อ PVC อะลูมิเนียม ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล รถยนต์ ตัวถังรถ ไม้ อิฐ เซรามิก
    • เมื่อแข็งตัวแล้วจะมีความทนทานสูง ทนแรงดันน้ำและทนความร้อน
  2. กลุ่มอีพ๊อกซี่เสียบเหล็ก
    • ใช้ยึดเหล็กเส้น หิน กระเบื้องที่เสียบกับโครงสร้างคอนกรีต และโป้วตกแต่งขอบคอนกรีตที่บิ่นหรือชำรุด
    • เมื่อแห้งแล้วจะทนแรงดึงได้สูง มีความคงทนแข็งแรง

การใช้งานกาวอีพ๊อกซี่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

  1. เริ่มกันที่ขัดพื้นผิวที่ต้องการทำงานด้วยตะไบ หรือกระดาษทรายเพื่อขจัดฝุ่น คราบจารบี และสิ่งสกปรกให้หมดไป
  2. จากนั้นตัดปลายกระบอกฉีด หมุนกระบอกฉีดขึ้น และกดกระบอกฉีดเล็กน้อย ดันฟองอากาศขึ้นไปด้านบน ทั้งนี้โปรดทำตามคำแนะนำบนผลลิตภัณฑ์
  3. อย่างที่บอกไปว่า กาวอีพ๊อกซี่จะใช้งานได้ ต้องผสมสาร 2 ตัว คือ เรซินและสารชุบแข็ง ให้เราบีบหลอดจ่ายคู่เพื่อจ่ายสารสองตัวนี้ให้อัตราส่วนเท่า ๆ กันลงบนพื้นผิวที่ต้องการ ทั้งนี้ควรมีถอดหรือจานรองสำหรับผสมกาวอีพ๊อกซี่ด้วย
  4. ทำการผสมเรซินอีพ๊อกซี่ และสารชุบแข็งอย่างรวดเร็วประมาณ 1-2 นาทีจนเข้ากันดี แล้วทากาวเพียงเล็กน้อยลงบนสิ่งของที่คุณต้องการจะติด
  5. เมื่อทากาวแล้วให้ประกบวัสดุเข้าด้วยกัน แล้วใช้แรงกดเข้าด้วยกันจนแน่น ซึ่งเวลาที่กาวจะเซ็ตตัวนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละผลิตภัณฑ์

วัสดุอุดรอย (Sealant)

รอยร้าว รูรั่ว ช่องว่าง รอยต่อ รอยแตกต้าว ถือเป็นสารพันปัญหาเรื่องบ้านชวนปวดหัว แต่ปัญหายิบย่อยไม่ได้มีแค่นั้น แต่ยังมีปัญหารูโพรง ช่องว่าง และรอยต่ออีกด้วย เหล่านี้จำเป็นต้องใช้ “วัสดุอุดรอย” (Sealant) เพื่อช่วยไม่ให้เกิดปัญหาและความเสี่ยงตามมาภายหลัง หากบ้านของเราเจอปัญหาเรื่องรูโพรง ช่องว่างตัวบ้าน และส่วนต่อเติม นั่นแปลว่าต้องรีบซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน ซึ่งวัสดุอุดรอยก็มีหลากหลายประเภท แต่ละประเภทก็เหมาะกับรูโพรง รอยร้าว และปัญหามากมายแตกต่างกันไป

ปัญหารูโพรงเกิดจากอะไร

ก่อนอื่นมาเข้าใจก่อนว่าปัญหารูโพรงเกิดจากอะไร อธิบายง่าย ๆ ก็คือรูโพรง หรือรอยแตกร้าวต่าง ๆ มักเกิดจากการเจาะผนัง ต่อเติม รวมถึงการหดตัว และขยายตัวของปูนตามสภาพอากาศ หากเป็นรอยร้าวเล็ก ๆ เพียงไม่กี่มิลลิเมตร ก็ไม่ส่งผลอะไรต่อตัวบ้าน แต่ก็ไม่ควรนิ่งเฉย สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้อย่างง่ายดาย ทว่ารูโพรงขนาดใหญ่ ควรรีบแก้ไขโดยด่วนด้วยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เพราะหากปล่อยไว้จนสายเกินแก้อาจเกิดปัญหาบ้านทรุดตัว หรือบ้านยุบตัวได้

วัสดุอุดรอย กับงานอุดโพรงและรอยแตกร้าว

  • ใช้อุดช่องว่างของวงกบ ประตู หน้าต่าง จากการติดตั้ง
  • ใช้อุดรูโพรง ช่องว่าง รอยต่อหรือรอยแตกร้าว สำหรับงานก่อสร้าง
  • ใช้อุดรอยแตกร้าวขนาดใหญ่บริเวณกำแพง รอยต่ออาคาร
  • เชื่อมต่อโดยรอบของท่อน้ำ และท่อระบายอากาศของเครื่องปรับอากาศ

วัสดุอุดรอย แบ่งได้ 3 ประเภท

  1. อะคริลิก ใช้ได้กับงานไม้ กระเบื้องหลังคา เซรามิก เหล็ก ไม้สังเคราะห์ พลาสติก กระเบื้องพื้น คอนกรีต สามารถทาทับสีได้ แต่จะมีความยืดหยุ่นน้อย ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและรังสียูวีน้อย เหมาะสำหรับงานภายในและภายนอกอาคาร ซึ่งอะคริลิกจะสามารถขัดแต่งผิวงานได้ ข้อเสียคือแห้งช้า และไม่เหมาะกับสภาพผิวที่มีฝุ่นเกาะ
  2. ซิลิโคน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ซิลิโคน ชนิดมีกรด และซิลิโคน ชนิดไม่มีกรด
    • ซิลิโคน ชนิดมีกรด ใช้ได้กับงานไม้ กระเบื้องหลังคา เซรามิก ไม้สังเคราะห์ กระเบื้องพื้น กระจก ไม่สามารถทาทับสีได้ มีความยืดหยุ่นปานกลาง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและรังสียูวีปานกลาง เหมาะสำหรับงานภายในและภายนอกอาคาร ข้อดีคือแห้งไว มันเงา สวยงาม มีสีให้เลือกหลากหลาย แต่ข้อเสียคือมีกลิ่นฉุน และใช้กับพื้นที่เป็นโลหะไม่ได้
    • ซิลิโคน ชนิดไม่มีกรด ใช้ได้กับงานไม้ กระเบื้องหลังคา เซรามิก เหล็ก ไม้สังเคราะห์ พลาสติก กระเบื้องพื้น คอนกรีต สุขภัณฑ์ กระจก อะลูมิเนียม ไม่สามารถทาทับสีได้ มีความยืดหยุ่นปานกลาง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและรังสียูวีปานกลาง เหมาะสำหรับงานภายในและภายนอกอาคาร ข้อดีคือมีความมันเงา สวยงาม ทั้งยังมีสีให้เลือกหลากหลาย และมีสารยับยั้งการเกิดของเชื้อราในบางรุ่นอีกด้วย
  3. โพลียูรีเทน หรือ PU ใช้ได้กับงานไม้ กระเบื้องหลังคา เซรามิก เหล็ก ไม้สังเคราะห์ พลาสติก กระเบื้องพื้น คอนกรีต สุขภัณฑ์ กระจก อะลูมิเนียม ความเจ๋งคือสามารถทาทับสีได้ มีความยืดหยุ่นสูง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและรังสียูวีปานกลาง-สูง สามารถใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร แถมยังกันเสียงได้ในระดับหนึ่ง ป้องกันการเติบโตของเชื้อรา และกันน้ำมันได้ดี

สีของวัสดุอุดรอยแต่ละประเภท เลือกยังไงให้เหมาะกับงาน

  • สุขภัณฑ์ ควรเลือกใช้สีขาว วัสดุอุดรอยที่ใช้ ได้แก่ อะคริลิก ซิลิโคน โพลียูรีเทน
  • กระจก ควรเลือกใช้สีใส วัสดุอุดรอยที่ใช้ คือ ซิลิโคน
  • ปูน อะลูมิเนียม ประตูวงกบ แนะนำให้เลือกใช้สีเทา วัสดุอุดรอยที่ใช้ ได้แก่ อะคริลิก ซิลิโคน โพลียูรีเทน
  • ปูน ประตูวงกบ แนะนำให้เลือกใช้สีดำ วัสดุอุดรอยที่ใช้ คือ อะคริลิก
  • งานอะลูมิเนียม ควรเลือกใช้สีอะลูมิเนียม วัสดุอุดรอยที่ใช้ คือ ซิลิโคน 

การเตรียมพื้นผิวก่อนทำการอุดรอยต่อ

  1. ทำความสะอาดพื้นผิวหรือวัสดุให้ปราศจากฝุ่น ผง คราบน้ำมัน และคราบสกปรกต่าง ๆ
  2. ทิ้งให้แห้งสนิท
  3. ผิวงานต้องมีความเรียบพอสมควร
  4. บริเวณที่จะอุดยาแนวต้องสกัดให้ความกว้าง-ยาว ได้สัดส่วน เช่น กว้าง 2 ซม. ลึก 1 ซม. 

ช้อปปิ้งสินค้า 'น้ำยาผสมคอนกรีต น้ำทาและอุดคอนกรีต เทปปิดรอยต่อ กาวอีพ็อกซี วัสดุอุดรอย' ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กับไทวัสดุ

สัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าเพื่อบ้านบนโลกออนไลน์ได้แล้ววันนี้กับ ไทวัสดุ ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย จำหน่ายเคมีภัณฑ์ วัสดุอุดโพรงและรอยแตกร้าว อะคริลิกยาแนว ซิลิโคนยาแนว โพลียูรีเทนยาแนว ซีลแลนท์ วัสดุอุดรอยต่อสำเร็จรูปพร้อมใช้ ตอบโจทย์ทุกความต้องการ สั่งง่าย สะดวกรวดเร็ว เลือกรับสินค้าที่สาขาด้วยตนเอง หรือเลือกรับสินค้าที่บ้าน บริการจัดส่งทั่วประเทศ สั่งผ่านออนไลน์ได้ที่ thaiwatsadu.com หรือติดต่อผ่านช่องทาง Chat & Shop LINE @thaiwatsadu โทร. 1308