ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย ครบเรื่องบ้าน ถูกและดี
logo_mobile
search
เลือกสาขา

แผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell)

    โลกเรามีพลังงานทางเลือกมากมายให้มนุษย์เลือกใช้ หนึ่งในนั้นคือพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติที่สะอาด ไร้มลพิษ แถมยังมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มนุษย์เราจึงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่จะเปลี่ยนแสงแดดให้เป็นไฟฟ้า ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) หรือบางคนอาจเรียกว่า "เซลล์แสงอาทิตย์ " 
    ความดีงามของมันคงไม่ต้องสาธยาย เพราะนอกจากจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือเป็นพลังงานที่ใช้ได้อย่างไม่จำกัดแล้ว ยังมีความปลอดภัย และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เรียกได้ว่าลงทุนติดตั้งครั้งเดียว แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นคุ้มค่าเป็นอย่างมาก ซึ่งการใช้โซลาร์เซลล์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในบ้านเรา แต่สำหรับคนที่เพิ่งมีไอเดียอยากติดตั้ง ก็คงต้องทำการบ้านกันพอสมควร วันนี้เราจึงพาทุกคนมารู้จักกับเจ้าแผงสี่เหลี่ยมที่เปลี่ยนแสงแดดเป็นพลังงานไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น 
แผงโซลาร์เซลล์ มีกี่ชนิด 
เท้าความกันสักเล็กน้อยว่า ซิลิคอน (Silicon) เป็นธาตุชนิดหนึ่งที่มีมากที่สุดในโลก มันเลยถูกนำมาใช้เป็นสารกึ่งตัวนำในการทำโซลาร์เซลล์นั่นเอง อย่าเพิ่งทำหน้าสงสัยว่าสารกึ่งตัวนำคืออะไร พูดง่าย ๆ ก็คือวัสดุที่มีคุณสมบัติในการนำไฟฟ้า ซึ่งถ้าเราแบ่งประเภทของแผงโซลาร์เซลล์ด้วยสารซิลิคอน ก็จะได้ทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ 
  1. ผลึกเดี่ยว (Monocrystalline Silicon) เป็นโซลาร์เซลล์ที่ทำจากผลึกซิลิคอนบริสุทธิ์ หรือการเอาผลึกซิลิคอนเพียว ๆ มากวนให้เกาะกันเป็นแท่ง แล้วนำมาตัดเป็นสี่เหลี่ยม และพิมพ์ลงบนแบบพิมพ์จนได้เป็นโซลาร์เซลล์ หน้าตามันจึงมีสีเข้ม และมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมตัดมุมทั้งสี่มุม มีอายุการใช้งานยาวนานเฉลี่ยแล้วประมาณ 25 ปีขึ้นไป ราคาเลยค่อนข้างสูง นิยมใช้กันตามงานอุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน แปลงเกษตร หรือบ้านหลังใหญ่ 
  2. ผลึกรวม (Polycrystalline Silicon) เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาต้นทุนสูงของแบบผลึกเดียว เป็นการนำผลึกซิลิคอนบริสุทธิ์มาหลอมกับซิลิคอนที่เหลือจากการผลิตแบบผลึกเดี่ยว ราคามันเลยจับต้องได้มากกว่า แต่ประสิทธิภาพก็จะน้อยกว่าแบบแรก จึงเหมาะกับอาคารบ้านเรือน หรือติดบนหลังคาบ้านเรานั่นเอง ส่วนหน้าตาเซลล์แต่ละเซลล์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และสีก็จะเข้มน้อยกว่าแบบแรก 
  3. ฟิล์มบาง (Thin Film) ต่างจากสองแบบแรกตรงที่ไม่นำซิลิคอนมาทำเป็นผลึก แต่นำมาฉาบเป็นชั้นบาง ๆ พร้อมเคลือบเป็นฟิล์ม ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนในการผลิต มีน้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่น อายุการใช้งานมันเลยสั้นกว่าประเภทอื่น จึงไม่เหมาะกับการใช้งานกับอาคารบ้านเรือน แต่นิยมนำไปใช้งานกับอุปกรณ์เล็ก ๆ เช่น นาฬิกา เครื่องคิดเลข รถกอล์ฟไฟฟ้าขนาดเล็ก 
เมื่อได้โซลาร์เซลล์แล้ว จะเอาไปใช้งานทันทีเลยไม่ได้ แต่ต้องนำวัสดุอื่น ๆ มาประกอบกันเพื่อให้โซลาร์เซลล์ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยอุปกรณ์เหล่านี้ ได้แก่ 
  • กรอบโครงอะลูมิเนียม-กระจกนิรภัย ป้องกันสิ่งสกปรกเข้าไปในแผง 
  • ฟิล์ม ป้องกันความชื้น เพิ่มความทนทาน 
  • แผ่นโพลิเมอร์ประกบหลังแผง ติดด้านล่างสุด ป้องกันการเกิดสนิม 
  • ขั้วต่อสายไฟฟ้า เพื่อส่งต่อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สู่ระบบแบตเตอรี่ 
สิ่งที่ควรรู้ต่อมาก็คือ โซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าเป็นกระแสตรง (DC) หากต้องการนำไปใช้งาน จะต้องมีอุปกรณ์ที่ทำให้ไฟฟ้านั้นกลายเป็นกระแสสลับ (AC) เสียก่อน ซึ่งอุปกรณ์พื้นฐานนอกจากแผงโซลาร์เซลล์ จะต้องมี  
  • เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Power Inverter) คอยแปลงพลังงานไฟฟ้าจากกระแสตรง (DC) ให้เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) 
  • เครื่องควบคุมการประจุ (Charge Controller) ทำหน้าที่ประจุกระแสไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์เข้าสู่แบตเตอรี่ และควบคุมกระแสไฟฟ้าให้มีปริมาณที่พอดี 
  • แบตเตอรี่ (Battery) คอยเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้งานยามที่คุณต้องการ 
รู้แล้วว่าโซลาร์เซลล์ทำงานอย่างไร มีแบบไหนบ้าง อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือระบบการติดตั้ง โดยการติดตั้งแผงโซลาร์ในปัจจุบันมีอยู่ 3 แบบ คือ 
  1. On-grid System ได้รับความนิยมมากสุด ติดตั้งและบำรุงรักษาง่าย เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน ทั้งในอุตสาหกรรมและบ้านเรือน เหมาะกับสถานที่ที่ใช้ไฟช่วงกลางวันหรือตอนที่มีแสงแดด เป็นการผลิตไฟฟ้าได้แล้วใช้งานเลย ซึ่งระบบนี้จะไม่มีแบตเตอรี่ เมื่อไฟดับระบบจะทำการปิดตัวเอง ช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายไปได้ในตัว 
  2. Off-grid System มีจุดเด่นคือไม่ต้องเชื่อมต่อกับการไฟฟ้า และไม่ต้องเดินสายไฟให้ยุ่งยาก แต่พอไม่ต้องขออนุญาตกับการไฟฟ้า ระบบนี้จึงเหมาะกับสถานที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เช่น บนเกาะ บนดอย เพราะลองคิดดูว่าพื้นที่ห่างไกลแบบนี้ ถ้าต้องลากสายไฟยาว ๆ มาเชื่อมต่อ ต้นทุนจะต้องสูงมากแน่นอน ซึ่งการติดตั้งสามารถใช้ได้ทั้งแบบมีแบตเตอรี่ และไม่มีแบตเตอรี่ 
  3. Hybrid System เป็นการเอาจุดเด่นของ On-grid และ Off-grid รวมเข้าไว้ด้วยกัน คือนอกจากคุณจะใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีแสงแดดได้แล้ว ก็ยังสามารถสำรองไฟฟ้าในแบตเตอรี่ไว้ใช้ยามฉุกเฉินได้อีกด้วย 
รู้จักโซลาร์เซลล์ และระบบการติดตั้งกันไปแล้ว หากเราต้องการจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลอย่างจริงจัง อย่าลืมตรวจเช็กก่อนเสมอว่าเรามีพื้นที่เพียงพอที่จะติดตั้งหรือเปล่า และสำรวจว่าในแต่ละวัน เราและคนในบ้านใช้ไฟกันมากน้อยแค่ไหน คุ้มค่าหรือไม่ที่จะติดตั้ง เพราะการติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้นเป็นการลงทุนที่มีค่าใช้จ่าย และต้องใช้เวลาในการคืนทุน รวมถึงยังมีค่าบำรุงรักษาที่จะตามมาอีกด้วย  
ช้อปปิ้งสินค้า ‘แผงโซลาร์เซลล์’ ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กับ ไทวัสดุ 
สัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าเพื่อบ้านบนโลกออนไลน์ได้แล้ววันนี้กับ ไทวัสดุ ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย จำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ และชุดไฟโซลาร์อินเวอร์เตอร์ ที่ตอบโจทย์ความต้องการ สั่งง่าย สะดวกรวดเร็ว เลือกรับสินค้าที่สาขาด้วยตนเอง หรือเลือกรับสินค้าที่บ้าน บริการจัดส่งทั่วประเทศ สั่งผ่านออนไลน์ได้ที่ thaiwatsadu.com หรือติดต่อผ่านช่องทาง Chat & Shop LINE @thaiwatsadu โทร. 1308 

อ่านเพิ่มเติม