ปั๊มจุ่ม เลือกอย่างไร ให้เหมาะสมกับการใช้งาน
เมื่อถึงหน้าฝน ย่อมมาพร้อมกับปัญหาน้ำท่วมน้ำขังรอการระบาย ถ้ารอระบายไม่ไหวคงต้องพึ่งพาอุปกรณ์อย่าง ปั๊มจุ่ม ที่จะช่วยลดระดับน้ำขังลงอย่างรวดเร็ว ปั๊มจุ่ม คือปั๊มน้ำขนาดเล็กพกพาสะดวกทำหน้าที่ปั๊มน้ำออกจากจุดที่มีการท่วมขัง ดูดน้ำเสีย น้ำโคลน หรือของเหลวที่มีกากตะกอนสูงได้ดี เหมาะสำหรับสูบน้ำจากบ่อที่ไม่ลึกมาก เช่น ใช้ถ่ายเทน้ำออกจากบ่อปลา ระบายน้ำขังในไซส์งานก่อสร้าง เป็นต้น
ประเภทของปั๊มจุ่ม
1. ปั๊มจุ่มน้ำดีหรือ ปั๊มจุ่มน้ำสะอาด
ใช้สำหรับสูบน้ำสะอาดเท่านั้น น้ำที่สูบต้องเป็นน้ำที่ไม่มีตะกอน หรือเศษขยะหลงเหลืออยู่ภายในน้ำ ถ้ามีก็ต้องเป็นตะกอนขนาดเล็กมาก ๆ ภายในปั๊มจุ่มน้ำดีจะมีช่องตะแกรงตาถี่ คอยดักคัดกรองป้องกันไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดตัน จนอาจทำให้เกิดความเสียหายตามมา
2. ปั๊มจุ่มน้ำเสีย
ใช้สำหรับสูบน้ำเสีย น้ำโคลน น้ำที่มีเศษขยะหรือตะกอนปะปนอยู่ได้ ปั๊มในรูปแบบนี้จะมีฐานปั้มที่สูงกว่าปั๊มจุ่มน้ำดี และมีช่องตะแกรงภายในที่ใหญ่กว่า ทำให้ดูดสิ่งสกปรกได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงในบางรุ่นจะมีใบพัดสำหรับตัดสิ่งสกปรกที่ดูดเข้ามาให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ป้องกันปัญหาอุดตันที่อาจเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ปั๊มจุ่มทั้ง 2 ประเภทที่กล่าวมาข้างต้น ยังสามารถ แบ่งได้ออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
• ปั๊มจุ่มแบบมีลูกลอย ลูกลอยจะคอยทำหน้าวัดระดับน้ำ เมื่อจุ่มปั๊มลงไปในน้ำ ลูกลอยก็จะลอยขึ้นมา และเมื่อดูดน้ำหมด ลูกลอยก็จะจมลง ปั๊มก็จะตัดการทำงานโดยอัตโนมัติ
• ปั๊มจุ่มแบบไม่มีลูกลอย เป็นปั๊มที่ต้องกดเปิด - ปิดสวิตช์ ก่อนและหลังการใช้งาน ใช้งานง่าย เพียงเสียบปลั๊ก กดปุ่ม ปั๊มก็ทำงาน
รูปแบบการทำงานของปั๊มจุ่ม
ปั๊มจุ่มทั้ง 2 ประเภทจะมีหลักในการทำงานเหมือนกัน กล่าวคือ หลังจากเสียบปลั๊กไฟมอเตอร์จะสร้างพลังงานทำให้ใบพัดภายในปั๊มหมุน เมื่อใบพัดหมุนจะทำให้กระแสน้ำจะถูกดูดผ่านทางน้ำเข้า แล้วไหลไปตามทิศทางการหมุนของใบพัด และถูกส่งออกไปยังทางน้ำออก
วิธีการเลือกปั๊มจุ่ม
1. เลือกที่วัสดุ วัสดุที่ถูกนำมาผลิตเป็นบอดี้ของปั๊มจุ่ม จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
• ปั๊มจุ่มพลาสติก จุดเด่นคือมีน้ำหนักเบา พกพาไปไหนมาไหนง่าย ราคาถูก แต่ก็ต้องแลกมากับความบอบบาง อาจแตกหักเสียหายได้ง่าย เหมาะกับการใช้งานในบ้านพัก ที่อยู่อาศัย
• ปั๊มจุ่มสเตนเลส มีความแข็งแรงกว่าพลาสติก ดูแลรักษาง่าย ทนต่อสนิมและการกัดกร่อน มีราคาที่แพงกว่าแบบพลาสติก เหมาะกับการใช้งานตามบ้านพัก ที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกัน
• ปั๊มจุ่มอะลูมิเนียม มีความแข็งแรงทนทานมากที่สุด ใช้งานได้นาน ทนต่อทุกสภาวะ ที่สำคัญมีน้ำหนักเบา พกพาสะดวก แต่ก็ต้องแลกมากับราคาที่แพงที่สุด เหมาะกับการใช้งานตามบ้านพัก ไร่สวนเรือกนา โรงงาน พื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้งานปั๊มจุ่มอยู่เป็นประจำ
2. เลือกจากความลึกของระดับน้ำในการใช้งาน ปั๊มจุ่มจะทำงานต่อเมื่อน้ำท่วมตัวปั๊ม ดังนั้นเราต้องดูก่อนว่าพื้นที่ที่เราจะใช้สูบน้ำเป็นประจำมีความลึกเท่าไหร่ หลังจากนั้นจึงค่อยไปดูความสูงของปั๊มจุ่มประกอบการเลือก แต่ถ้าซื้อไว้ติดบ้าน ป้องกันน้ำท่วม ก็ซื้อขนาดมาตราฐานก็เพียงพอ
3. เลือกจากประเภทของปั๊มจุ่ม แม้ปั๊มจุ่มจะมีเพียงแค่ 2 ประเภท แต่ก็จำเป็นที่จะต้องเลือกใช้งานให้ดี หากเลือกซื้อแบบผิดประเภทก็จะทำให้ปั๊มเกิดความเสียหายตามมา
ข้อควรระวังในการใช้งานปั๊มจุ่ม
• ไม่ควรใช้งานปั๊มจุ่มนานเกิน 12 ชั่วโมง มอเตอร์จะทำงานหนักเกินไปจนส่งผลเสียต่อตัวเครื่อง ดังนั้นถ้าจะใช้งานนานเกิน 12 ชั่วโมง แนะนำให้ซื้อปั๊มสำรองไว้อีก 1 ตัว แล้วสลับกันใช้งาน เพื่อให้ปั๊มตัวหลักได้พัก
• การสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพที่สุด น้ำจำเป็นต้องท่วมตัวปั๊ม และเมื่อสูบจนน้ำอยู่ต่ำกว่าตัวปั๊มแล้ว ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้มอเตอร์ทำงานตลอดเวลา
• ปั๊มจุ่มเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในพื้นที่น้ำขังน้ำท่วม ดังนั้นควรเดินสายดินให้เรียบร้อยก่อนการใช้งาน เพื่อความปลอดภัย
• ระหว่างที่ปั๊มยังทำงานถ้าต้องการที่จะย้ายพื้นที่ทำงาน หรือปิดเครื่อง ให้ถอดปลั๊กให้เรียบร้อยเสียก่อน ป้องกันอันตรายที่ไม่อาจคาดคิด
• ควรตรวจเช็คสายไฟทุกครั้งก่อนการใช้งาน สังเกตุไม่ให้มีรอยฉีกขาด หากพบให้รีบซ่อมแซ่มก่อนนำไปใช้งาน
• หมั่นทำความสะอาด เพราะปั๊มที่แช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน มักจะมีตะกอนหรือสิ่งสกปรกสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของปั๊ม
ขอบคุณภาพจาก: brownwellpump.com, rosenbauer.com, atlanticpumps.co.uk
• เลือกช้อปปั๊มจุ่ม ครบ ถูกและดี ได้ที่หน้าร้าน และหน้าเว็บ คลิก
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สินค้าแนะนำ