ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย ครบเรื่องบ้าน ถูกและดี
logo_mobile
search
เลือกสาขา
หน้าแรก
บทความ
วัสดุที่ใช้ทำรองเท้าเซฟตี้ มีคุณสมบัติแตกต่างกันอย่างไร

วัสดุที่ใช้ทำรองเท้าเซฟตี้ มีคุณสมบัติแตกต่างกันอย่างไร


ถึงแม้ว่ารองเท้าเซฟตี้จะมีลักษณะภายนอกไม่ต่างจากรองเท้าทั่วไปที่เราพบเห็น แต่รู้หรือไม่ว่า รองเท้าเซฟตี้นั้นเป็นรองเท้าที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องเท้าจากอันตรายสมดังชื่อ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมการทำงานที่หลากหลาย ตั้งแต่โรงงานอุตสาหกรรม งานก่อสร้าง จนไปถึงองานที่มีความเสี่ยงสูงอย่างงานไฟฟ้า งานสัมผัสสะเก็ดไฟ ความร้อน และสารเคมี 
ดังนั้น วัสดุที่ใช้ผลิตรองเท้าเซฟตี้ จึงเป็นอีกปัจจัยในการเลือกซื้อเพื่อเพิ่มความปลอดภัย และเพื่อให้คุณเข้าใจถึงความสำคัญของการเลือกวัสดุของรองเท้าเซฟตี้มากขึ้น วันนี้เรามีข้อแตกต่างของคุณสมบัติวัสดุแต่ละประเภทมาฝากกัน

วัสดุที่ใช้ทำรองเท้าเซฟตี้ มีอะไรบ้าง

รองเท้าเซฟตี้จะประกอบไปด้วย 3 โครงสร้างหลัก ๆ คือ ตัวรองเท้า หัวรองเท้า และพื้นรองเท้า ซึ่งเป็นส่วนที่ห่อหุ้มเท้า ข้อเท้า และขาของเราจากความเสี่ยงอันตรายต่าง ๆ ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้สำหรับโครงสร้างทั้ง 3 ส่วนนั้น ค่อนข้างทำจากวัสดุที่ต่างกันออกไป เพื่อให้ครอบคลุม ตอบโจทย์ต่องานให้มากที่สุด เรามาดูกันดีกว่าว่าโครงสร้างแต่ละส่วนนั้นผลิตจากวัสดุใดบ้าง

1. ตัวรองเท้า

เรียกอีกอย่างได้ว่าบอดี้รองเท้า (Upper) เป็นส่วนที่ห่อหุ้มเท้าของเราซึ่งมีตั้งแต่รูปแบบหุ้มส้น หุ้มข้อ ครึ่งหน้าแข้ง เต็มแข้ง และเต็มขา ส่วนใหญ่นิยมนำ 3 วัสดุนี้มาตัดเย็บที่มีคุณสมบัติ ดังนี้ 

1.1 หนังแท้ : นำมาจากหนังสัตว์ เช่น หนังวัว หนังกระบือ หนังแกะ เป็นวัสดุที่นิยมใช้ทำตัวรองเท้าเซฟตี้มาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีความทนทานสูง ระบายอากาศได้ดี ทนต่อการสึกหรอ แต่ขณะเดียวกันก็อาจมีน้ำหนักมากกว่ารองเท้าที่ทำจากวัสดุอื่น ๆ และอาจมีราคาที่สูงตามเกรดที่นำมาใช้
1.2 หนังเทียม (Synthetic Leather) : เป็นหนังที่เกิดจากการสังเคราะห์และทำพื้นผิวเลียนแบบหนังแท้เพื่อนำมาใช้ทดแทน มีน้ำหนักเบา ราคาถูกและง่ายต่อการรักษากว่ารองเท้าเซฟตี้หนังแท้ แต่อาจมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่า ระบายอากาศได้น้อยกว่า โดยหนังเทียมที่ส่วนใหญ่นิยมใช้มี 3 ประเภท ดังนี้
ไมโครไฟเบอร์ (Microfiber) : ทำจากโพลีเอสเตอร์ โพลีเอไมด์ ไนลอน หรือยูรีเทน เป็นใยที่มีความละเอียดและอ่อนนุ่ม น้ำหนักเบา ทนทานต่อสารเคมีฤทธิ์ไม่รุนแรง แต่ไม่ทนไฟ
พีวีซี (PVC ; Poly Vinyl Chloride) : มีคุณสมบัติทนน้ำได้ระดับหนึ่ง และทนสารเคมีที่มีความเข้มข้นต่ำออกฤทธิ์อ่อน แต่จะไม่ทนความร้อน และอาจให้ผิวสัมผัสที่แข็งกว่าวัสดุอื่น ๆเหมาะสำหรับผู้ต้องการความกระชับแน่นหนาเสียมากกว่า
พียู (PU ; Polyurethane) : มีคุณสมบัติเด่นคือ น้ำหนักเบา ยืดหยุ่น กันน้ำและกันน้ำมันได้ดีในระดับหนึ่ง และไม่ทนต่อความร้อนสูงเช่นกัน 
1.3 คอมโพสิต (Composite) : เป็นวัสดุผสมที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ ไฟเบอร์กลาส มีน้ำหนักเบา ไม่นำไฟฟ้า ไม่ก่อให้เกิดประกายไฟ ทนต่อการกัดกร่อนได้ดีระดับหนึ่ง แต่อาจไม่ทนต่อความร้อนสูง

2. หัวรองเท้า (Toe Cap)

เป็นอีกหนึ่งส่วนมี่ช่วยปกป้องบริเวณปลายท้ายหรือบริเวณนิ้วเท้าของเราจากวัตถุที่ตกหล่น ของมีคม โดยวัสดุที่นิยมนำไปทำหัวรองเท้า ได้แก่

2.1 เหล็ก (Steel) : เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และใช้มาอย่างยาวนาน มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทกและแรงบีบอัด แต่อาจมีน้ำหนักมากกว่าวัสดุอื่น ๆ นอกจากนี้ยังเป็นตัวนำไฟฟ้าไม่เหมาะกับการนำไปใช้งานที่มีความเสี่ยงไฟฟ้าช็อต
2.2 อลูมิเนียม (Aluminum) : มีน้ำหนักเบากว่าเหล็ก ทนทานต่อแรงกระแทกและการกัดกร่อน ไม่ก่อให้เกิดประกายไฟ แต่เป็นตัวนำไฟฟ้าที่อาจจะไม่เหมาะกับการใช้งานที่มีความเสี่ยงไฟฟ้าช็อต
2.3 คอมโพสิต (Composite) : มีน้ำหนักเบากว่าเหล็กเช่นกัน ทนทานต่อการกัดกร่อน ทนต่อแรงกระแทกและไม่นำไฟฟ้าสามารถใส่ทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าสถิตได้

3. พื้นรองเท้า (Sole)

เป็นส่วนที่อยู่ด้านล่างใต้เท้าที่สัมผัสกับพื้นตลอดเวลา ช่วยป้องกันการเกิดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อพื้นที่คุณสัมผัสมีน้ำ น้ำมัน สารเคมี กระแสไฟฟ้า ซึ่งผลิตจากวัสดุที่หลากหลาย ส่วนใหญ่วัสดุที่นิยมใช้นั้น มีดังนี้

3.1 โพลียูรีเทน (Polyurethane ; PU) : มีคุณสมบัติเด่นช่วยดูดซับแรงกระแทกได้ดี กันลื่น ทนทานต่อการสึกหรอ ไม่นำไฟฟ้า ทนต่อสารเคมีที่มีฤทธิ์ไม่รุนแรงและความเข้มข้นต่ำ แต่อาจเสื่อมสภาพไวหากใช้งานที่สัมผัสกับน้ำมันเป็นเวลานาน
3.2 เทอร์โมพลาสติกยูรีเทน (TPU ; Thermoplastic Polyurethane) : มีความยืดหยุ่นสูง มีน้ำหนักเบาทำให้คุณสบายเท้า เคลื่อนไหวได้สะดวก กันลื่น ไม่นำฟ้า ทนทานต่อน้ำมัน สารเคมี กรด ด่าง และมีความทนทานต่อความร้อนได้ดี แต่อาจเกิดการสึกหรอได้ง่ายเมื่อนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมที่ขรุขระเป็นเวลานาน
3.3 ไนไตร (Nitrile) : มีคุณสมบัติที่ทนทานต่อน้ำมัน กาว สารละลาย กรด ด่าง และสารเคมีเป็นอย่างดี เหมาะสำหรับงานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมี อีกทั้งยังทนต่อความร้อนได้ดีระดับหนึ่ง กันลื่นบนพื้นผิวที่เปียก และไม่นำไฟฟ้า แต่ก็อาจมีน้ำหนักที่มากกว่าทำให้การเคลื่อนไหวไม่สะดวกเท่ากับพื้นรองเท้าที่ทำจากวัสดุอื่น ๆ 
3.4 อีวีเอ (EVA ; Ethylene Vinyl Acetate) : มีน้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นสูง ดูดซับแรงกระแทก ป้องกันความร้อนที่สัมผัสกับพื้นได้ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่ทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมี น้ำมัน กรด ด่าง อีกทั้งกันน้ำ กันลื่นในระดับต่ำกว่าวัสดุอื่น ๆ รวมถึงเป็นฉนวนไฟฟ้า จึงไม่เหมาะกับการนำไปใช้งานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า หรือพื้นที่ที่มีกระแสไฟฟ้า
โดยคุณสมบัติวัสดุที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง 3 ส่วน ยังขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตของแต่ละผู้ผลิตว่ามีนวัตกรรมใหม่ ๆ เสริมเข้าไปหรือไม่เพื่อแก้ไขปัญหาข้อเสีย เช่น สารกันสารเคมีในวัสดุที่มีการป้องกันสารเคมีต่ำเข้าไป สารทนไฟ เป็นต้น ดังนั้น ควรสอบถามกับตัวแทนจำหน่ายหรือแบรนด์นั้นเพื่อสอบถามคุณสมบัติเพิ่มเติมก่อนเลือกซื้อ
นอกจากนี้เพื่อให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับรองเท้าเซฟตี้ยิ่งขึ้น เรามีอีกหนึ่งบทความเกี่ยวกับประเภทของรองเท้าและเคล็ดลับการเลือกซื้อเล็กน้อยมากฝากกันเพิ่มเติม เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการพิจารณาก่อนเลือกซื้อได้เป็นอย่างดี คลิก

ช้อปปิ้งสินค้า รองเท้าเซฟตี้ ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กับไทวัสดุ

สัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าเพื่อบ้านบนโลกออนไลน์ได้แล้ววันนี้กับ ไทวัสดุ ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย จำหน่าย รองเท้าเซฟตี้ สั่งง่าย สะดวกรวดเร็ว และสามารถเลือกรับสินค้าที่สาขาด้วยตนเอง หรือเลือกรับสินค้าที่บ้าน บริการจัดส่งทั่วประเทศ สั่งผ่านออนไลน์ได้ที่ thaiwatsadu.com หรือติดต่อผ่านช่องทาง Chat & Shop LINE @thaiwatsadu โทร. 1308