รู้ไว้ไม่เสียหาย ถึงความหมายของ Class ถังดับเพลิง
“ ไฟ ” เป็นภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การมีถังดับเพลิงติดตั้งไว้ในบ้านหรือสถานที่ต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่การจะเลือกถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับชนิดของไฟก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะถังดับเพลิงแต่ละชนิดมีสารเคมีที่ออกแบบมาเพื่อใช้ดับไฟที่เกิดขึ้นจากชนวนหลากรูปแบบแตกต่างกันออกไป การเลือกใช้ถังดับเพลิงที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้การดับเพลิงไม่ประสบผลสำเร็จ ก่อให้เกิดอันตรายและการสูญเสียได้ บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงประเภท Class ของถังดับเพลิง เพื่อที่คุณจะได้เลือกใช้ถังดับเพลิงที่เหมาะสมถูกต้อง
ประเภท Class ของถังดับเพลิง มีอะไรบ้าง?
เคยสงสัยไหมว่าทำไมถังดับเพลิงถึงมีสีสันและขนาดแตกต่างกัน ? หรือทำไมถึงมีป้ายบอกว่าดับไฟได้เฉพาะ Class A, B, C หรือ K ? ความแตกต่างเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นการออกแบบมาเพื่อให้เหมาะสมกับชนิดของไฟที่แตกต่างกัน โดย Class ที่กล่าวไปข้างต้น เป็นการบ่งบอกถึงการนำไปใช้กับเชื้อเพลิงที่เกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
1. Class A (Ordinary Combustibles)
เหมาะกับการนำไปใช้กับเพลิงไหม้ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อเพลิงของแข็งทั่วไป เช่น ไม้ กระดาษ ผ้า พลาสติก หรือยาง เมื่อวัสดุเหล่านี้ถูกเผาไหม้ จะเกิดเปลวไฟและความร้อนสูง ทำให้ไฟลุกลามได้อย่างรวดเร็ว ถังดับเพลิง Class A จึงถูกออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อช่วยดับไฟประเภทนี้ ซึ่งมีสารดับเพลิงอย่างน้ำ หรือ โฟม ที่มีคุณสมบัติลดอุณหภูมิของเชื้อเพลิงอย่างรวดเร็ว ทำให้เปลวไฟดับลง ช่วยตัดออกซิเจนและป้องกันไม่ให้ไฟลุกไหม้ขึ้นมาใหม่
2. Class B (Flammable Liquids)
เหมาะกับการนำไปใช้กับเพลิงไหม้ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อเพลิงประเภทของเหลวติดไฟโดยเฉพาะ เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล แอลกอฮอล์ ก๊าซหุงต้ม บูเทน (Butane) หรือ โพรเพน (Propane) และสารเคมีที่ติดไฟง่ายอื่น ๆ พบได้มากตามปั๊มน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น และโรงงานผลิตสี ซึ่งสารของถังดับเพลิง Class นี้มีทั้งแบบผงเคมีแห้ง โฟม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีคุณสมบัติช่วยเคลือบผิวเชื้อเพลิงนำทำให้ตัดการสัมผัสกับอากาศ อีกทั้งสารจะไปแทนที่อากาศ ทำให้เชื้อเพลิงขาดอากาศในการเผาไหม้ ช่วยลดอุณหภูมิของเชื้อเพลิงลง
3. Class C (Electrical Equipment)
เหมาะกับการนำไปใช้กับเพลิงไหม้ที่มีสาเหตุมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยังมีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียหาย หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดไฟอย่างมอเตอร์ ตัวแปลงกระแสไฟฟ้า ซึ่งให้เลือกทั้งสารก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีคุณสมบัติช่วยให้เชื้อเพลิงขาดออกซิเจนจนเชื้อเพลิงลดอุณหภูมิจนเชื้อเพลิงค่อย ๆ ดับลง และสารสะอาด เช่น ไนโตรเจน อาร์กอน ฮาโลเจน เป็นสารดับเพลิงที่ไม่นำไฟฟ้า ไม่ทิ้งคราบ และไม่ทำลายชั้นโอโซน
4. Class D (Combustible Metals)
เหมาะกับการนำไปใช้กับเพลิงไหม้ที่มีสาเหตุมาจากโลหะบางชนิดที่ติดไฟได้ง่าย เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม ไทเทเนียม และอะลูมิเนียม โดยสารภายในของถังดับเพลิง Class นี้จะส่วนใหญ่จะเป็นผงเคมีแห้งชนิดพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อดับไฟโลหะโดยเฉพาะ เพื่อไปหุ้มผิวของโลหะที่กำลังลุกไหม้ ทำให้ตัดออกซิเจนและลดอุณหภูมิของโลหะลง
5. Class K (Combustible Cooking)
เหมาะกับการนำไปใช้กับเพลิงไหม้ที่มีสาเหตุเกิดจากน้ำมันที่ใช้ในการประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืช น้ำมันหมู หรือแม้แต่ไขมันสัตว์ที่ปรุงจนมีอุณหภูมิร้อนจัด ไฟประเภทนี้แตกต่างจากไฟทั่วไปตรงที่เมื่อน้ำมันร้อนจัดและสัมผัสกับอากาศ จะเกิดเป็นไอระเหยที่ติดไฟง่าย และเมื่อพยายามดับด้วยน้ำหรือผงเคมีทั่วไป จะทำให้ไฟลุกไหม้กระจายออกไปได้มากขึ้น ซึ่งสารดับเพลิงที่ใช้ในถังดับเพลิง Class K จะเป็นสารเคมีชนิดพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อดับไฟจากน้ำมันโดยเฉพาะ ที่มีคุณสมบัติช่วยทำปฏิกิริยากับน้ำมันที่กำลังลุกไหม้ ทำให้ตัดออกซิเจนและลดอุณหภูมิของน้ำมันลง
วิธีสังเกตสัญลักษณ์บนฉลากและการอ่านค่า Class
คุณสามารถเช็ก Class ข้างถังดับเพลิงที่แสดงอยู่บนฉลากได้ ซึ่ง 1 ถัง สามารถระบุได้มากกว่า 1 Class โดยมีทั้งสัญลักษณ์ที่แสดงเป็นตัวอักษร ABC หรือในรูปแบบตามภาพสีข้างต้น เช่น สีเขียว สีแดง สีฟ้า
ตัวอย่างการอ่านค่า Class ถังดับเพลิงระบุ A B และ C ที่มีความหมายว่า ถังดับเพลิงประเภทนี้สามารถใช้ดับเชื้อเพลิงที่เกิดจากของแข็งทั่วไป เชื้อเพลิงที่เกิดจากของเหลวอย่างน้ำมัน และเชื้อเพลิงที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า
ข้อควรระวังในการใช้ถังดับเพลิง
● ควรตัดกระแสไฟฟ้าที่จ่ายให้อุปกรณ์นั้น ๆ ก่อนที่จะทำการดับไฟ เพื่อความปลอดภัย
● ระวังการหายใจเอาสารดับเพลิงเข้าไปอาจทำให้ขาดอากาศหายใจได้ ควรสวมหน้ากากนิรภัยที่มีตัวกรอง เพื่อความปลอดภัย
● ควรยืนในทิศทางที่ลมพัดมา เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนและควันพัดมาโดนตัว
● ฉีดสารดับเพลิงไปที่ฐานของเปลวไฟ โดยให้กระแสสารดับเพลิงเคลื่อนที่ไปตามผิวของของเหลวที่กำลังลุกไหม้และฉีดอย่างต่อเนื่องจนกว่าไฟจะดับสนิท
● ระวังไฟปะทุหลังจากดับไฟแล้ว ควรเฝ้าระวังไฟปะทุซ้ำ เนื่องจากของเหลวบางชนิดอาจระเหยและติดไฟได้อีกครั้ง
● ห้ามใช้น้ำในการดับไฟที่มีสาเหตุเกิดจากโลหะเพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่รุนแรงยิ่งขึ้นและห้ามใช้ผงเคมีแห้งทั่วไปเพราะผงเคมีแห้งทั่วไปอาจไม่สามารถดับไฟโลหะได้อย่างมีประสิทธิภาพและอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ควรเช็กสัญลักษณ์ข้างถังดับเพลิงว่ามีการระบุอักษร D หรือไม่ เพราะเป็น Class ที่เหมาะสำหรับการนำใช้กับเชื้อเพลิงที่เกิดจากโลหะ
ช้อปปิ้งสินค้า ถังดับเพลิง ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กับไทวัสดุ
สัมผัสประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าเพื่อบ้านบนโลกออนไลน์ได้แล้ววันนี้กับ ไทวัสดุ ศูนย์รวมสินค้าบ้านของคนไทย จำหน่าย ถังดับเพลิง สั่งง่าย สะดวกรวดเร็ว และสามารถเลือกรับสินค้าที่สาขาด้วยตนเอง หรือเลือกรับสินค้าที่บ้าน บริการจัดส่งทั่วประเทศ สั่งผ่านออนไลน์ได้ที่ thaiwatsadu.com หรือติดต่อผ่านช่องทาง Chat & Shop LINE @thaiwatsadu โทร. 1308